หลังจากแถลงข่าวเตรียมจัดการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย “Lactasoy Thailand National Cheerleading Championship 2019” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19-20 ต.ค.นี้ ล่าสุด บริษัท แลคตาซอย จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนหลักการประกวดอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยพันธมิตร ได้แก่ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สหพันธ์กีฬาเชียร์ลีดดิ้งประจำประเทศไทย สมาคมเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทย เดินสายจัดกิจกรรม TNCC Orientation Workshop ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกีฬาเชียร์ลีดดิ้ง และเปิดโอกาสให้ทีมนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขันในปีนี้ ได้มีโอกาสประเมินความสามารถของทีม จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญกีฬาเชียร์ลีดดิ้ง กรมพลศึกษา โดยกิจกรรมเวิร์คชอปดังกล่าวจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา จังหวัด นครราชสีมา
“พรรวนา มหาทรัพย์” ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและการตลาดสัมพันธ์ บริษัท แลคตาซอย จำกัด กล่าวว่า “แลคตาซอยสนับสนุนการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของเด็กไทยในกีฬาเชียร์ลีดดิ้ง สอดคล้องกับความตั้งใจของแลคตาซอยที่มุ่งส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีสุขภาพดี เล่นกีฬาด้วยความทุ่มเท ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และรู้จักการทำงานเป็นทีม ซึ่งก่อนการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ทางผู้จัดงานยังได้จัดเวิร์คชอป 4 ภาค ก่อนหน้านี้จัดไปแล้วที่ภาคกลาง ส่วนครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทีมเชียร์ลีดดิ้งภาคอีสานได้เรียนรู้เทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการแข่งขันในรอบชิงแชมป์อย่างแน่นอน”
“รัชนีกร คงเสมอ” ครูผู้ฝึกสอนทีม SSD Cheer โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า “สมาชิกในทีมเป็นน้อง ๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยินเสียงก็ไม่เป็นอุปสรรคกับการเต้น ในการฝึกซ้อมจะใช้ภาษามือ โบกมือเพื่อให้จังหวะ น้อง ๆ แต่ละคนจะใช้เทคนิคในการจำท่าทางและคอยจับจังหวะว่าต่อไปจะทำท่าไหน ไปยืนจุดไหน ส่วนการคิดท่าเต้นทุกคนในทีมจะช่วยกันศึกษาจากยูทูบ โดยจะใช้เวลา 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่มเพื่อฝึกซ้อมเป็นประจำทุกวัน ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ส่งทีมเข้าประกวดทั้ง 2 รุ่น ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก ซึ่งครูมองว่าการเริ่มต้นฝึกฝนตั้งแต่รุ่นเล็กเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีและต่อยอดไปถึงรุ่นใหญ่ได้ ประเมินภาพรวมของทีมรู้สึกพอใจ ส่วนเป้าหมายที่หวังไว้อยากไปให้ถึงแชมป์ เพราะที่ผ่านมาได้ที่ 2 มาตลอด และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนกีฬานี้ค่ะ”
เสียงจากเยาวชนที่มาเปิดใจถึงความรู้สึกในการเข้าร่วมเวิร์คชอป ส่วนใหญ่มองว่ามีประโยชน์ ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการเล่นกีฬาที่ถูกต้องและปลอดภัย สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาทีมต่อไป
“ณิชชาพันธุ์ ขุ่มด้วง” หรือ “กีตาร์” สมาชิกทีม BMC โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า “เริ่มต้นจากความชอบในการเต้นตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม และมีรุ่นพี่เห็นแววจึงชักชวนให้เข้ามาร่วมทีม รวมทั้งการสนับสนุนจากคุณพ่อและคุณแม่ ปัจจุบันอยู่กับทีมBMC มา 5 ปี ในตำแหน่งยอด มองว่ายาก แต่สิ่งสำคัญคือการฝึกซ้อมเพื่อหามุมที่ตนเองถนัดในการขึ้นยอด คอยบอกกับตัวเองเสมอว่าต้องทำได้ การเวิร์คชอปในครั้งนี้เป็นประโยชน์เพราะทำให้ได้เรียนรู้ว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งยอดมีการจัดระเบียบร่างกายอย่างไร และขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่สนับสนุนกีฬานี้และเปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงความสามารถค่ะ”
“เดโชพล สวัสดิ์ธรรมากุล” หรือ “เครป” หนึ่งในสมาชิกทีม Spirit of SBAC วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ กล่าวว่า “เริ่มเข้าสู่กีฬาเชียร์ลีดดิ้งเพราะได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่โรงเรียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งฐาน มองว่าเป็นตำแหน่งที่ยากเพราะต้องเป็นฐานที่แน่น สิ่งที่ได้รับจากกีฬานี้คือร่างกายที่แข็งแรง รวมทั้งต้องมีไหวพริบ การเข้าเวิร์คชอปในครั้งนี้ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะได้ทราบถึงทักษะพื้นฐานที่คนเล่นกีฬาเชียร์ลีดดิ้งต้องมี ทำให้เรามีความแม่นยำมากกว่าเดิม อยากขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ช่วยกันส่งเสริมกีฬาเชียร์ลีดดิ้งและอยากให้เด็กรุ่นใหม่สนใจเข้ามาเล่นกีฬานี้ให้มากขึ้นครับ”
“ธีรภัทร เบิกบานดี” หรือ “เอ็ม” หนึ่งในสมาชิกทีม Spirit of SBAC วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ กล่าวว่า “ส่วนตัวสนใจกีฬานี้อยู่แล้ว โดยเข้าสู่กีฬาเชียร์ลีดดิ้งจากการชักชวนของอาจารย์และเพื่อน ๆ ตอนนี้อยู่ในตำแหน่งฐานซึ่งถือว่าเป็นตัวหลักของทีม ต้องใช้พละกำลังอย่างมาก และการจับจังหวะที่แม่นยำ การได้ร่วมเวิร์คชอปนับว่ามีประโยชน์และอยากให้จัดแบบนี้อีก เพราะทำให้ได้ทราบพื้นฐานทั้งหมด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแข่งขันรอบแชมป์ได้ครับ”
นอกจากนี้ยังมีรุ่นพี่จากทีม RSUCheer มหาวิทยาลัยรังสิต มาเป็นโค้ชช่วยฝึกสอนน้องๆ ที่เข้าโครงการ โดย กัปตันทีม “หมิว-ปิยรัตน์ วรรณจักร์” กล่าวว่า “สำหรับตัวเองก่อนเข้าสู่วงการกีฬาเชียร์ลีดดิ้งเคยเป็นนักกีฬายิมนาสติกมาก่อน ต่อมามีรุ่นพี่เห็นแววจึงชวนเข้ามาคัดตัวเพื่อร่วมทีมเชียร์ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปัจจุบันรับทั้งตำแหน่งฐานบนและตัวยอด ซึ่งสิ่งที่ได้รับจากกีฬานี้คือความอดทน ความสามัคคี การทำงานเป็นทีม รวมทั้งการเรียนรู้ท่าใหม่ซึ่งมีความยาก ในฐานะรุ่นพี่ขอฝากถึงรุ่นน้องที่สนใจ อยากให้ลองเข้ามาฝึกฝนและมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากีฬานี้ด้วยกันค่ะ”
สำหรับเยาวชนทีมเชียร์ลีดดิ้งในภาคเหนือและภาคใต้ ขอให้เตรียมตัวฟิตร่างกายให้พร้อม เพื่อเข้าร่วมเก็บเกี่ยวทักษะและความรู้กับกิจกรรมเวิร์คชอปครั้งต่อไป รับรองว่าได้เทคนิคดี ๆ นำไปต่อยอดในรอบชิงแชมป์อย่างแน่นอน