กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ดึงตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งรัฐ หน่วยงานด้านสื่อสาร/โทรคมนาคม สาธารณสุข ความมั่นคง สื่อสารมวลชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มั่นใจเดือนต.ค.นี้ศูนย์เฟค นิวส์ พร้อมใช้ 100% นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)เปิดเผยว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาข่าวปลอมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานล่าสุดจึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาช” โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานกรรมการ พร้อมดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการ สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม มีทั้งสิ้น 25 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดดีอี หน่วยงานด้านสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันการศึกษาชั้นนำในสาขานิติศาสตร์-นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้แทนจากสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ปัจจุบันการใช้สื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม ในการปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือ โดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารไปจากข้อเท็จจริง ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เด็ก เยาวชนตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมอันดี และสถาบันหลักของชาติที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยสภาพความท้าทายในปัจจุบันด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านสื่อสังคมอนไลน์และสื่อในระบบอินเทอร์เน็ต เห็นได้จากปริมาณเว็บไซต์ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีจำนวนมากที่ต้องดำเนินการ อีกทั้งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องเชิงบูรณาการภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในระดับประเทศ สำหรับการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีตัวแทนเข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติงานป้องกัน และการระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูล ข่าวสารอันเป็นเท็จและไม่เหมาะสม มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชนให้เกิดความรวดเร็วในทางปฏิบัติ ทั้งยังเสริมสร้างการตระหนักรู้เท่าทันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง “อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ จะครอบคลุม การวางแผนการดำเนินงานและแผนการเผยแพร่ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ตพร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง และจัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่” นอกจากนี้ยังรวมทั้งดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข้อมูลข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน และสาธารณะชนผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน รายงานผลการดำเนินงานต่อ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิบัติงานในการประสานงาน และแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เชื่อว่าในเดือนต.ค.นี้ ศูนย์เฟคนิวส์จะขับเคลื่อนเต็มรูปแบบพร้อมตรวจสอบทุกข่าวปลอม