หลังจากนายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายจะพาไทยพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ใน 20 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาเกษตรกร4.0 อย่างครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายของทุกกระทรวงจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งวันนี้รัฐบาลมียุทธศาสตร์ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ 20 ปี หมายความว่า 20 ปี ไทยจะก้าวไปสู่ประเทศที่พ้นจากกับดักของผู้มีรายได้ปานกลาง คือเราอยากเห็นประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทั้งประเทศจะเป็น 4.0 แต่ว่าจะต้องมีส่วนหนึ่งที่เป็น 4.0 ส่วนหนึ่งก็ยังคงเป็น 3.0 แต่ส่วนที่เป็น 1.0 และ 2.0 ต้องทำให้เหลือน้อยที่สุด นั่นหมายถึงว่าขบวนรถไฟทั้งขบวนจะต้องขยับขึ้นไป
สำหรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยพัฒนาเกษตรกรให้เป็น สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ( Smart Farmer) ในด้านต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายว่าอีก 5 ปี จะมี สมาร์ท ฟาร์เมอร์ 2.5 ล้านคน ขณะนี้มีเครือข่ายเกษตรกรที่เป็นชาวนากว่า 30 ล้านคน ทั่วประเทศ สำหรับชาวนารุ่นเก่าก็ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่จะสร้างให้เข้าใจระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันพัฒนา ยังสมาร์ท ฟาร์เมอร์ ให้ได้ประมาณ 6 หมื่นราย ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร ผ่านแอพพลิเคชั่น สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่เกษตรกร 4.0 ได้นั้นต้องทำเรื่องเกษตรแบบแม่นยำ โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีตัวอย่างที่ดี ในการทำเกษตร โดยพัฒนาศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ “ศูนย์จะเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรมารวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาและนำไปสู่การปฎิบัติ และจะเป็นศูนย์ที่เชื่อมโยงระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับเกษตรกรที่อยู่ในอำเภอ ต้องพัฒนาศูนย์ให้มีความเข้มแข็งและในอนาคตในระยะ 5 ปี ต้องสร้างเครือข่ายของศูนย์นี้ออกไป”
2.การเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานของการเกษตร โดยยกระดับให้เป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น GAP , GMP หรือเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีผู้จัดการแปลงใหญ่เป็นแกนหลัก เพื่อให้สมาชิกมารวมตัวกัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ตั้งกฎเกณฑ์ ตั้งมาตรฐาน “การบริหารจัดการแปลงใหญ่ทำให้ยกระดับตัวสินค้าขึ้นจากเดิมที่ทำอะไรก็ได้ อยากจะใส่ปุ๋ย มาเริ่มบริหารเป็นแปลง เป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรฐานสินค้าขึ้นมาได้ ในปี 2559 เรามีแปลงใหญ่อยู่แล้ว 600 แปลง และในปี 2560 อยากจะเห็นแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 แปลง อัตราเร่งจะไปอยู่ปีที่ 2 และ 3 เพื่อจะให้ได้ 7,000 แปลงใน 5 ปีข้างหน้า” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว
3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตรงนี้เป็นแผนงานที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญโดยนำ Agri Map มาเป็นฐานในการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรได้อย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เขาปลูกข้าวในที่ดินของเขา ไม่รู้ว่าดินเป็นอย่างไร ใส่ปุ๋ยมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเขารู้ว่าดินที่เขาทำอยู่ มันเหมาะกับอะไร หรือแม้กระทั่งเขาควรจะใส่ปุ๋ยสักเท่าไร อย่างนี้มันจะเริ่มการพัฒนาตั้งแต่พื้นฐานข้างล่าง โดยใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ ในการทำให้เกิดประสิทธิภาพของสินค้าเกษตร ตรงนี้เป็นยุทธศาสตร์ ที่เรากำหนดไว้
4.การใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งน้ำกับการทำการเกษตรมีความสำคัญมาก และการทำการเกษตรไม่ได้อยู่ในเขตชลประทานเท่านั้น มีทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน สำหรับในการเกษตรในเขตชลประทาน ไม่ค่อยกังวลเท่าไร เราจึงให้ความสำคัญกับการเกษตรนอกเขตชลประทานมากกว่า ด้วยการทำระบบกระจายน้ำหรือทำเส้นทางส่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อส่งน้ำลงไปในพื้นที่นอกเขตชลประทานมากขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ สามารถทำเส้นทางส่งน้ำขนาดเล็กได้มากกว่า เมื่อเทียบเท่ากับรัฐบาลที่แล้วประมาณ 8-10 ปี และ 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ส่งน้ำให้ได้ 2 ล้านไร่
5.พัฒนาบุคลากรให้เป็น Smart Officer ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินการไปทั้งหมด ซึ่งเรามีสถาบันเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความรู้ของข้าราชการ กระทรวงเกษตรฯ อยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าเราจะพึ่งสถาบันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ไม่สามารถสร้างSmart Officer ได้เป็นจำนวนมาก แนวความคิดของผมก็คือทุกกรมจะต้องมีระบบการสร้างข้าราชการให้เป็นสมาร์ท โดยกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และดำเนินการโดยหน่วยงานไหน จาก 5 ปี ผมถอดแบบมาในปี 2560 ให้เป็นปียกระดับสินค้าเกษตรไปสู่ความยั่งยืน เป้าหมายคือเราจะยกคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการเขียนแผนภาพการเชื่อมโยงงาน ในกระดาษ A4 ซึ่งเรียกว่ายุทธศาสตร์ A 4 โดยวางแผนย้อนหลัง
“แผนนี้คิดขึ้นในขณะที่เขียนแผนในกระดาษ A 4 ซึ่งก็เป็นยุทธศาสตร์กระดาษ A 4 เราจะทำอย่างไร เรามีที่ดินในประเทศไทย (149 ล้านไร่) เป็นที่ดินที่ทำเกษตรอยู่ในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า A 4 จะมีอยู่แค่นี้ จะทำอย่างไรให้ A 4 สูงขึ้นได้ เกษตรมีรายได้สูงขึ้น ถ้ากระดาษ A 4 ลอยขึ้นได้เมื่อไร นั่นคือความสำเร็จในพื้นที่”
สำหรับกระบวนการในการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ สิ่งแรกคือการนำปรัชญาเศรษฐกิจ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นตัวตั้ง และบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 มิติ คือ AGENDA และ AREA มาขับเคลื่อนในการทำงาน จากนั้นก็จะนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการทำการเกษตร รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ ขบวนการดังกล่าว จะนำไปสู่เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งทางสังคม และเป็นที่ยอมรับ มีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกรและมีรายได้เพียงพอ ต่อการดำรงชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น 20 % ต้นทุนการผลิตลดลง 20 %
อีกหนึ่งเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการอยู่ คือการจัดสรรที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยมีแนวคิด นำที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนไร่ มาจัดสรรใหม่ วิธีการ คือ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 5 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ พื้นที่แปลงรวมใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปพัฒนาที่ดิน ทำถนน แบ่งแปลง เหมือนพื้นที่จัดสรร แต่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ขณะนี้หลายพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วยกตัวอย่าง ที่จ.อุทัยธานี โดยมีนายกรัฐมนตรีไปมอบ ตรงนี้เป็นไปตามคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่คัดเลือกเกษตรกรเข้าไปอยู่ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการจัดหาที่ดิน และกระทรวงเกษตรฯ พัฒนาอาชีพเกษตรกรให้โดยการนำ Agri Map เข้าไปจับในพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าทำแบบนี้ได้ครบทั้งระบบ เกษตรกรจะอยู่ได้จริงและไม่ขายที่ดิน สำหรับปี 2560 ตั้งเป้าจะพัฒนาพื้นที่ให้แล้วเสร็จ2.5 แสนไร่ และในเดือน เม.ย. เริ่มลอตแรก 3 หมื่นไร่
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงยุทธศาสตร์ยกกระดาษ A 4 ว่าวางระบบเพิ่มเติมให้เป็นระบบการบริหารจัดการในพื้นที่ เรียกว่า Single Command เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมาจังหวัดหนึ่งๆ จะมีข้าราชการเกษตรเยอะมาก ทั้งชลประทานจังหวัด ประมงจังหวัด เกษตรสหกรณ์จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด เมื่อเรากำหนด เป็น Single Command จะทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้จะพัฒนาเรื่องของสหกรณ์ ถือเป็นสถาบันที่ทำแปลงใหญ่ได้เร็วที่สุด ยกระดับสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีภาครัฐ ประชารัฐ และหน่วยงานอื่น เป็นตัวช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนงานทั้งหมด นี่คือแผนงานของปี 2560
เกษตรกรที่จะเป็นเกษตรกร 4.0 ได้ จะต้องทำเกษตรที่เรียกว่า อัจฉริยะ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด ด้วยสินค้าที่มีความปลอดภัย ยกระดับมูลค่าสินค้าให้เป็นมาตรฐานในขณะเดียวกันต้องใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นน้ำดิน อย่างคุ้มค่า ถ้าทำอย่างนี้ได้ จะเป็นเกษตรกร 4.0 ทันที เป็นเกษตรกรที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีไทยแลนด์ 4.0