ยันไม่ใช่แนวกำแพงอายุกว่า 300 ปี วิพากษ์กัน ถอดอิฐเคยบูรณะปี 35 มีนักโบราณคดีกำกับใกล้ชิด ย้ำวางระบบไฟส่องสว่างกระทบโบราณสถานน้อยที่สุด เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 62 จากกรณีสื่อโซเซียลเผยแพร่ภาพกำแพงวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกรื้อจนเสียหายจากการเดินสายเคเบิ้ลเพื่อวางระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้พบเห็นพากันวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการดังกล่าวว่าไม่ได้รับการดูแลจากกรมศิลปากรหรือไม่นั้น ล่าสุด นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยน.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจยังจุดที่มีการเดินสายไฟบริเวณรอบโบราณสถาน นายอรุณศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าการวางระบบไฟฟ้านี้อยู่ในโครงการวางระบบไฟฟ้าให้กับโบราณสถานสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกับผู้รับเหมา มีนักโบราณคดีให้ข้อมูลและชี้จุดก่อนที่จะมีการขุดทุกพื้นที่ ส่วนการถอดอิฐในช่องดังกล่าวนั้น เดิมเป็นแนวช่องที่อิฐที่ต่ำกว่าจุดอื่นเคยผ่านการบูรณะมาแล้วเมื่อปี 2535 เป็นส่วนที่ออกแบบประกอบเข้าไปใหม่ ไม่ใช่แนวกำแพงอายุกว่า 300 ปีอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน รองอธิบดีกรมศิลป์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้มีการติดป้ายประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ ดังนั้นจึงสั่งการให้ผู้รับจ้างทำการล้อมรั้วและปักป้ายชี้แจงถึงการดำเนินการดังกล่าวในพื้นที่ทันที เพื่อไม่ให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสมและสร้างความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว เมื่อวางระบบใต้ดินเสร็จแล้วจะนำอิฐเดิมทั้งหมดเข้ามาประกอบดังเดิม และอาจจะเพิ่มอิฐเข้าไปเพื่อให้เสมอเท่ากับช่องกำแพงอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสวยงามเพราะแนวกำแพงดังกล่าวเป็นแนวที่อยู่ระหว่างชั้นในกับชั้นนอกช่วงริมฝั่งแม่น้ำ พร้อมกันนี้เน้นย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าว ถือว่ากระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวโบราณสถานน้อยมาก “ทุกขั้นตอนมีเจ้าหน้าที่เคยดูแลตลอด ที่ผ่านมาการขุดวางแนวท่อยังไม่พบโบราณวัตถุและกระทบกับโบราณสถานใดๆ และได้จัดทำรายงานการดำเนินงานดังกล่าวแจ้งถึงนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อเสนอต่อนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมต.วธ. ได้รับทราบแล้ว" นายอรุณศักดิ์ กล่าว ด้าน น.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โครงการวางระบบไฟฟ้านี้ ถือเป็นโครงการประดับไฟฟ้าส่องสว่างให้กับตัวโบราณสถานสำคัญใน จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณจำนวน 92 ล้านบาท ตามแผนกำหนดติดตั้งทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ 1.โบราณสถานวัดราชบูรณะ 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดพระศรีสรรเพชญ์ 4.วัดไชยวัฒนาราม 5.คุ้มขุนแผนและวัดเกษ 6.วัดพระราม 7.วัดภูเขาทอง และ 8. ศาลากลางหลังเก่า ทั้งหมดจะมีการติดตั้งไฟแบบส่องสว่างให้เห็นถึงมิติและตัวบรรยากาศที่งดงามของตัวโบราณสำคัญ กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 พ.ย.นี้ “การดำเนินงานเน้นย้ำกับผู้รับจ้างให้ลดผลกระทบกับตัวโบราณสถาน และมีคณะกรรมการวางแผนงานอย่างรอบคอบจุดที่วางบริเวณวัดไชยวัฒนธรรม เคยมีการถอดอิฐและผ่านการบูรณะมาแล้ว ก่อนที่จะดำเนินการได้รายงานถึงแผนโครงการการดำเนินการกับแหล่งมรดกโลกมาเป็นปีแล้ว ทั้งยังให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่อุทยานดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวในการเข้าชมโบราณสถานอย่างใกล้ชิดอีกด้วย” น.ส.สุกัญญา ผอ.อุทยานฯ พระนครศรีอยุธยา กล่าว ทั้งนี้ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กำหนดจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในวันที่ 21 ส.ค. เวลา 13.30 น. ห้องประชุมกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ภาพก่อนดำเนินการมาเปรียบเทียบ fb อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา Ayutthaya Historical Park