รู้ไหมว่า ประมาณร้อยละ 2-8 ของคนที่ตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษ ประมาณร้อยละ 10-15 ของสตรีตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ
1. อันตรายแค่ไหน
2. ใครคือกลุ่มเสี่ยง
3. ตรวจก่อน – รู้ก่อน
4. ป้องกันได้หรือไม่
ครรภ์เป็นพิษคืออะไร
1. เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่เกิดกับหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับการมีไข่ขาว (โปรตีน) รั่วออกมาในปัสสาวะ และมีอาการบวมที่ขา มือ หรือใบหน้า เป็นต้น
2. สาเหตุที่เกิดยังไม่รู้แน่ เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว นำไปสู่การเกิดความดันโลหิตสูง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายน้อยลงรวมถึงรกด้วย การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ
อาการอะไรบ้างที่ชวนให้สงสัยว่าเกิดครรภ์เป็นพิษ
1. ปวดศีรษะ ตามัว
2. บวมตาม เท้ามือ ใบหน้า หรือน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. คลื่นไส้ อาเจียน
4. ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่
5. ถ้าเป็นชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นมีน้ำคั่งในปอด มีเลือดออกในสมอง
6. ชัก
อันตรายแค่ไหนถ้าเกิดครรภ์เป็นพิษ
1. ภาวะนี้จะกระทบกับการทำงานเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดความเสียหาย บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไต ตับ หัวใจ ระบบการแข็งตัวของเลือดเสียไป
2. ถ้ารุนแรงมาก ๆ เกิดการชักเลือดออกในสมอง
3. คลอดก่อนกำหนดเนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องกระตุ้นให้คลอดเพื่อช่วยเหลือมารดา ทารกที่คลอดออกมามีปัญหาเรื่องการหายใจ และสุขภาพอื่น ๆ
4. รกลอกตัวก่อนกำหนด รกลอกจากโพรงมดลูกก่อนทารกคลอด มีเลือดออกอย่างมาก อันตรายทั้งแม่และลูก
5. HELLP เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ค่าตับอักเสบสูงขึ้น ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งรุนแรงมากเพราะเป็นสัญญานของความเสียหายของอวัยวะในหลาย ๆ ระบบ
6. ครรภ์เป็นพิษส่งผลเสียต่อแม่และลูก ถ้ารุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
คุณเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
1. ตั้งครรภ์ครั้งแรก
2. ตั้งครรภ์ลูกแฝด
3. การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกาย เช่น IVF
4. ตั้งครรภ์ที่อายุไม่เหมาะสม เช่น อายุมากกว่า 35 ปี หรืออายุน้อยไป วัยรุ่น
5. อ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน
6. เคยเกิดภาวะนี้เมื่อตั้งครรภ์ครั้งที่ผ่านมา
7. มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น ความดันสูง เบาหวาน โรคไต
8. ครอบครัวเคยเกิดปัญหานี้
รักษาได้ไหม
1. ครรภ์เป็นพิษเกิดเพราะมีการตั้งครรภ์ ดังนั้นวิธีดีที่สุดคือ “การคลอด” เท่านั้น
2. การจะให้คลอดหรือไม่นั้น จะดูรายละเอียดเป็นราย ๆ ไป แต่มีแนวโน้มที่จะไม่รอให้เจ็บท้องเอง ยึดหลักว่าลูกในท้องโตแค่ไหน
3. ให้ยาลดความดัน และยากันชัก
ถ้าไม่อยากให้ตัวเองเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างน้อยควรทำอย่างไร
1. ปรึกษาหมอถ้าวางแผนที่จะมีลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง”
2. ฝากท้องตั้งแต่เนิ่น ๆ และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง
3. ถ้ามีอาการผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจให้รีบไปพบหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปวดหัว ปวดตรงลิ้นปี่ บวมตามขา มือ
ถ้าทำได้ครบทั้ง 3 เรื่องนี้ “ก็ลดความเสี่ยงในการเกิดครรภ์เป็นพิษ”
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ แพทย์หญิงวิบูลพรรณ ฐิตะดิลก