ช่วงสัปดาห์ สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องถือว่า โลกเราเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุมหาอุทกภัยจากผลพวงของพายุมรสุมที่ทำให้เกิดภาวะฝนตกหนัก จนน้ำท่วมสูงฉับพลันในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในแคว้นเกรละ พื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนแคว้นมหาราษฎระ และแคว้นคุชราต พื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 250 คน สูญหายอีกนับร้อยคน รวมถึงทำให้ประชาชนนับล้านคน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ไปพำนักอาศัยตามศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆ สถานการณ์น้ำท่วมหนักที่อินเดีย สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ทางเกษตรเป็นบริเวณกว้าง นอกเหนือจากคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคน ได้รับผลกระทบอีกจำนวนนับล้านคน เหตุมหาวาตภัย จากพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น “เลกิมา” หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า “ฮันนา” ซึ่งมีความเร็วลมสูงสุดที่ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดถล่มในหลายพื้นที่ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ เกาะริวกิว ไต้หวัน และภาคตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ พิษของพายุก็คร่าชีวิตผู้คนที่มันพัดผ่านไปอย่างน้อย 80 คน ประชาชนนับล้านได้รับผลกระทบ ทั้งจากฝนที่ตกตามมาอย่างหนัก จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลัน บ้านเรือนอีกจำนวนไม่น้อยต้องพังพินาศ โดยประเมินกันว่า ความเสียหายคิดเป็นตัวเงินก็อยู่ที่ราวๆ 3.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สภาพความเสียหายของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองเหวินโจว มณฑลซีเจียง ประเทศจีน หลังเผชิญพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นเลกิมา พัดถล่ม นอกจากนี้ ก็เป็นเหตุมหาอุทกภัย ผนวกกับดินสไลด์ โคลนถล่มในเมียนมา บ้านใกล้เรือนเคียงของไทย ซึ่งเกิดขึ้นที่รัฐมอญ เป็นต้น หลังเผชิญภาวะฝนตกหนักมาหลายวัน โดยบ้านหลายสิบหลังถูกดินโคลนที่ถล่มลงมาฝังจม พร้อมคร่าชีวิตประชาชนไปเกือบๆ 60 คน และยังมีผู้คนสูญหายอีกหลายสิบ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองพะโค ประเทศเมียนมา อยู่ในสภาพจมบาดาล หลังเผชิญน้ำท่วมสูง จากการที่ฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ท่ามกลางความวิตกกังวลจากบรรดานักสิ่งแวดล้อมว่า สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นับวันส่งสัญญาณส่อเค้าว่าจะรุนแรงมากขึ้น โดยเหตุปัจจัยก็จากปัญหา “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” เป็นแรงผลักดันทำให้เกิดผลกระทบเป็นภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ บนโลกที่เราอยู่นี้ เช่น ภัยแล้ง ฝนตกหนัก น้ำท่วมสูง และพายุที่รุนแรงขึ้น เป็นอาทิ โดยความวิตกกังวลยังได้มีไปถึง คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น นั่นคือ “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ไอพีซีซี (IPCC : Intergovernmental Panel on Climate Change)” ซึ่งเป็นการสนธิของสองหน่วยงานเพื่อทำงานร่วมกัน ได้แก่ “องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” และ “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นอีพี” ออกรายงานฉบับล่าสุด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงาน ก็ระบุว่า มนุษยชาติทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร อันสืบเนื่องจากการได้ผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤติภาวะโลกร้อน ท่ามกลางความคาดหมายว่า อุณหภูมิโลกในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 1.5 – 2 องศาเซลเซียส เกษตรกรแหงนมองดูท้องฟ้าอย่างสิ้นหวัง จากการที่พวกเขาประสบกับภัยแล้ง นางวาเลอรี แม็กซอน-เดลม็อตต์ ประธานร่วมของไอพีซีซี และยังมีสถานะเป็นนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชาวฝรั่งเศส ระบุในระหว่างแถลงเผยแพร่รายงานข้างต้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนกว่า 100 คน จาก 52 ประเทศ เข้าร่วมประชุมว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตทางการเกษตร ที่จะต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ต่อเนื่องตามมาจากภาวะโลกร้อน เช่น ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จนไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วม ไม่นับที่เกิดปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆ จนส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรตามมา อย่าง “ไฟป่า” ที่อาจจะสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ทางการเกษตรด้วย รวมถึงน้ำท่วม ดินถล่ม พายุพัดกระหน่ำ ล้วนส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรโดยตรง สอดรับกับข้อมูลของทาง “องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ” หรือ “นาซา” โดยสถาบันการศึกษาอวกาศ “ก็อดดาร์ด” ของทางองค์การฯ ระบุว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรทางอวกาศไม่พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่า “ล้มเหลว” ที่จะให้พื้นที่การเกษตรมีมากขึ้น อันสืบเนื่องจากผลพวงของภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตอาหารป้อนสู่มนุษยชาติเรา เหตุไฟป่ที่ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ทางการเกษตร พร้อมกระตุ้นเตือนให้โลกตระหนักถึงพิษภัยของภาวะโลกร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนสถานการณ์เลวร้ายที่ว่าจะพึงบังเกิดในอนาคต