ตรังหารือนำเรือคายัค "แม่ส้ม" เก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึง "มาเรียม" ขณะที่ ส.ส.พื้นที่พรรค ปชป. ผลักดันแผนแม่บทพะยูนเข้าสู่สภาฯ พร้อมเสนอตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์น้ำทางทะเล ที่จังหวัดตรัง วันที่ 19สิงหาคม หลังจากที่พะยูนน้อย"มาเรียม"เสียชีวิตด้วยสาเหตุการติดเชื้อและกินเศษพลาสติก ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายซากพะยูนน้อย"มาเรียม"มาทำกานสต๊าฟเพื่อการศึกษา นั้นโดยก่อนหน้านี้พะยูนน้อย"มาเรียม"มีความผูกพันกับเรือแม่ส้มที่คิดว่าเป็นแม่ของตัวเองนั้น ซึ่งหลังจากที่พะยูนน้อย"มาเรียม"ตายไปแล้วนั้นมีการพูดคุยกันว่าจะนำเรือแม่ส้มมาเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเจ้าพะยูนน้อย"มาเรียม" ทั้งนี้ นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยอนุบาลมาเรียม พะยูนน้อยวัย 9 เดือน มานับตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันสุดท้าย เห็นด้วยหากจะมีการนำแม่ส้ม หรือเรือคายักสีส้ม มาเก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงพะยูนน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ได้นำเรือลำนี้มาใช้แทนแม่พะยูน เพื่อให้มาเรียม เกิดความรู้สึกอบอุ่น และมีกำลังใจการพยายามใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติมาตลอด 111 วัน นายชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า โดยทางเขตห้ามล่าฯ จะมีการหารือไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งแม่ส้ม หรือเรือคายักสีส้มลำนี้ จัดซื้อโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นบนเกาะลิบง เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และถูกนำมาใช้แทนแม่พะยูน จนกลายเป็นข่าวที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลกในเวลาต่อมา ขณะที่ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแลพื้นที่เกาะลิบง รวมทั้งพื้นที่ทางทะเลตรัง เตรียมผลักดันเรื่องพะยูนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางอนุรักษ์ และการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ในการดูแลพะยูน รวมทั้งหญ้าทะเล เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นพื้นที่ที่มีทั้งพะยูนและหญ้าทะเลมากที่สุดของประเทศ "ล่าสุดจากการพูดคุยกับ ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้เสนอแนะว่า ให้ผลักดันพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ตรัง เพื่อจัดตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์น้ำทางทะเล เนื่องจาก จ.ตรัง ถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน และจากการพูดคุยกับ นายประจวบ โมฆรัตน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สบทช.) ที่ 10 จ.ตรัง ก็ได้เสนอแผนแม่บทพะยูนของ จ.ตรัง ซึ่งเน้นในการอนุรักษ์พะยูน คู่กับหญ้าทะเล อย่างเป็นรูปธรรม"นางสาวสุณัฐชา กล่าว นางสาวสุณัฐชา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น จากการที่ตนเองเคยลงพื้นที่ไปกินนอนเฝ้าดูมาเรียม และได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน กลุ่มพิทักษ์ดุหยง และชาวบ้านบนเกาะลิบง ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พะยูน โดยเฉพาะจากสถิติการตายของพะยูน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากเครื่องมือประมง และประชากรพะยูนที่ยังเหลือเพียงแค่ 200 ตัว ก็ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่ก็น่าดีใจที่ชาวประมงบนเกาะลิบง หรือบริเวณโดยรอบ ต่างเข้าใจในปัญหานี้ดี และให้ความรักพะยูนเสมือนกับลูก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการอนุบาลมาเรียม พะยูนน้อย ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้พี่น้องชาวเกาะลิบงเป็นกำลังสำคัญในการดูแล เพียงแต่จากนี้ไปคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องขอการบังคับใช้เครื่องมือประมงมากขึ้น รวมไปถึงปัญหาขยะพลาสติก ที่จะต้องทำกันอย่างจริงจัง และจะต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาพะยูน หญ้าทะเล หรือขยะพลาสติก ก็จะไม่ได้ผล