"บิ๊กตู่"สั่งทุกหน่วยงานเร่งคลี่คลายภัยแล้งอีสานใต้ทั้งเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักและทำฝนหลวง กรมชลฯ เปิดทางน้ำสูบต่อมาเสริมอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างอำปึล ผลิตประปาป้อนเขตเมือง สุรินทร์ บุรีรัมย์ วันที่ 19 ส.ค. นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วันนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีสานใต้ที่โครงการชลประทานสุรินทร์ (อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง) อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีห่วงใยราษฎรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากตั้งแต่ต้นฤดูฝนเป็นต้นมา พื้นที่ภาคอีสานใต้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ จึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงน้ำด้านการเกษตร ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ 6 แห่ง มีน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 1,382 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 509 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 84 แห่ง มีน้ำเก็บกักประมาณ 284 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 211 ล้านลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 53 แห่ง มีน้ำเก็บกักประมาณ 7 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 1 ล้านลบ.ม. จากแผนการเพาะปลูกที่วางไว้ 1.50 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 1.30 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ นายทองเปลว กล่าวว่า ได้รายงานแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง17 แห่ง มีน้ำเก็บกักรวมประมาณ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญ 2 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง มีน้ำเก็บกักประมาณ 2 ล้านลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุฯ และอ่างเก็บน้ำอำปึลมีน้ำเก็บกักประมาณ 300,000 ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของความจุฯ ดังนั้น กรมชลประทานจึงเร่งจัดหาแหล่งน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โดยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำราชมงคลมา 250,000 ลบ.ม.และใช้ฝายหลังศูนย์ประมงกักน้ำไว้เป็น ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รวมทั้งสูบน้ำจากบ่อหินของเอกชนที่มีน้ำประมาณ 20 ล้านลบ.ม. ลงอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร “ในระยะยาวจะปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำเดิมที่เป็นหนองน้ำ แก้มลิงธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น โดยขุดลอกขยายพื้นที่ให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงให้สามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ดอนชายเขา พร้อมทั้งระบบส่งน้ำและระบบกระจายน้ำ อีกทั้งปรับปรุงระบบสูบน้ำเพื่อส่งน้ำและกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดความสูญเสียน้ำน้อยที่สุดไปสู่พื้นที่ขาดแคลนน้ำซ้ำซากดังเช่น การสร้างระบบสูบน้ำขนาดใหญ่และระบบส่งน้ำแบบท่อจากแม่น้ำสายหลักซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลน้ำน้ำในปีที่ฝนน้อยในอนาคตได้” นายทองเปลวกล่าว ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้รายงานนายกรัฐมนตรีถึงผลสำเร็จของการบูรณาของกรมฝนหลวงฯ กับกองทัพอากาศและกองทัพบกในปฏิบัติการฝนหลวง โดยนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้เหล่าทัพร่วมดำเนินการครั้งนี้ พร้อมเน้นย้ำให้ปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนให้มากที่สุด สำหรับพื้นที่ภาคอีสานหน่วยปฏิบัติการฯ ขอนแก่นขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตรที่จังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ หน่วยปฏิบัติการฯ นครราชสีมาช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิตอนล่าง หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุรินทร์ปฏิบัติการทั้งบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ โดยสารรถทำให้ฝนตกสู่พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและอ่างเก็บน้ำอำปึล อำเภอเมือสุรินทร์และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมืองบุรีรัมย์เนื่องจากเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำคํยสำหรับการผลิตน้ำประปาจ่ายให้ประชาชนในอำเภอเมืองทั้ง 2 จังหวัด “ตั้งแต่วันที่ 20-24 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะได้รับอิทธพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันซึ่งจะทำให้การก่อตัวของเมฆธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นจะเป็นสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการทำให้เมฆเจริญเติบโตและโจมตีให้ตกลงเป็นฝนสู่พื้นที่เป้าหมายได้มากขึ้น” นายสุรสีห์ กล่าว