ใครที่ผ่านไป ผ่านมา ย่านบริเวณใกล้ “วัดโคไดจิ” ในนครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้องได้ยินได้ฟังเสียงสวดมนต์ เสียงเทศนา ดังแว่วอยู่เป็นระยะๆ มาสักพักหนึ่งตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ผ่านมาแล้ว กระทั่งหลายคนอาจจะนึกว่า พระสงฆ์องค์เจ้าที่จำพรรษาในวัดซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี แห่งนี้ ช่างขยันสวด ขยันเทศนา ดีแท้ ทว่า เมื่อเดินเข้าไปภายในวัด ใกล้ต้นกำเนิดเสียง ที่เจื้อยแจ้วแว่วมา ก็ต่างพากันตกตะลึงพรึงเพริดกันเป็นแถว เพราะปรากฏว่า ต้นกำเนิดเสียงที่ว่า แทนที่จะพระภิกษุที่เป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ ก็กลับกลายเป็น “หุ่นยนต์” หรือ “โรบอต” กันไปเสียนี่!!! สอบถามพระในวัด ทราบชื่อภายหลังว่า “เทนโช โกโตะ” ก็ได้รับคำตอบว่า หุ่นยนต์ที่กำลังสาธยายมนต์ และการแสดงพระธรรมเทศนาในพระสูตรต่างๆ อย่างเสียงดังกังวาน ผสมผสานความเยือกเย็นในทีอยู่นั้น เป็นแบบ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ (AI : Artificial Intelligence)” เรียกว่า มิใช่หุ่นยนต์ที่เพียงแต่เคลื่อนไหวได้ทั่วไป แต่ยังมีเชาวน์ปัญญา ให้ได้ประจักษ์ ตามแต่โปรแกรม และกลไกการทำงานต่างๆ ถูกป้อน ถูกติดตั้งเข้าไป หุ่นยนต์พระโพธิสัตว์กวนอิม กับแสงที่ได้รับการตกแต่ง ให้ปล่อยออกมา ขณะสวดมนต์ หรือเทศนา ภายในวัดโคไดจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยหุ่นยนต์เอไอที่ว่า ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อจำลองให้เป็น “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ซึ่งตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนามหายาน แบบจีน และญี่ปุ่น ตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกอื่นๆ ก็คือ “เจ้าแม่กวนอิม” ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นเอง แต่ให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ในญี่ปุ่นเรียกเจ้าแม่กวนอิม หรือพระโพธิสัตว์กวนอิมว่า “คันนอน (Kannon)” ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นพระโพธิสัตว์ ที่มีคุณลักษณะโดดเด่นในเรื่องความมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย รูปร่างลักษณะของหุ่นยนต์พระแม่กวนอิมโพธิสัตว์ข้างต้น ภายนอกในส่วนที่เป็นใบหน้า บ่า และมือ ทั้งสองข้างก็ทำจาก “ซิลิโคน” เพื่อให้แลดูคล้ายกับเนื้อหนังมังสาแบบมนุษย์เราจริงๆ ในขณะที่ ส่วนอื่นๆ ของหุ่นยนต์ ก็ไม่มีวัสดุอะไรห่อหุ้ม แต่โชว์ให้เห็นเครื่องจักร กลไกต่างๆ ส่วนการทำงานก็ใช้ระบบ “แอนดรอยด์ (Android)” เฉกเช่นที่ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฟน ของหลายๆ ค่าย มาเป็นสมองกล รับส่งข้อมูล ตลอดจนการประมวลผล ก่อนสำแดงประสิทธิภาพต่างๆ ออกมา นั่นคือ การสวดสาธยายพุทธมนต์ในบทต่างๆ และการแสดงพระธรรมเทศนาในพระสูตรทั้งหลาย ภายใต้การประดิษฐ์สร้างสรรค์ ที่ร่วมมือกันระหว่างวัดโคไดจิ กับ ศ.ฮิโรชิ อิชิคุโระ นักวิชาการระดับศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยทางวัดโคไดจิ ก็จะให้ข้อมูลด้านคติธรรม หลักศาสนาต่างๆ ต่อทางคณะนักประดิษฐ์ ใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ ส่วนทางคณะนักประดิษฐ์ วิศวกร ภายใต้การนำของ ศ.ฮิโรชิ อิชิคุโระ ก็จะสร้างเครื่องจักรกลไกต่างๆ ให้หุ่นยนต์สามารถขยับลำตัว แขนขา และท่องสาธยายบทสวดมนต์ ตลอดจนแสดงพระธรรมเทศนาได้ หุ่นยนต์พระโพธิสัตว์กวนอิม ขณะสวดมนต์กับบรรดาพระภายในวัดโคไดจิ ใช้เงินทุนไปเสร็จสรรพสำหรับการประดิษฐ์และพัฒนา ก็ราวๆ 909,090 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตีเป็นตัวเลขเพื่อให้คิดคำนวณง่ายๆ ก็ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แปลงเป็นเงินไทย ณ ชั่วโมงนี้ ก็ประมาณกว่า30 ล้านบาท พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “มินดาร์” หุ่นยนต์พระโพธิสัตว์กวนอิม ขณะแสดงธรรมเทศนา ภายหลังจาก “มินดาร์” หรือ “หุ่นยนต์พระโพธิสัตว์กวนอิมระบแอนดรอยด์” อวดโฉมและแสดงประสิทธิภาพออกไป ก็มีกระแสเสียงทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาตอบรับ โดยในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ออกอาการไม่ปลื้มกับหุ่นยนต์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ที่ไม่เห็นด้วย ไปจนถึงขั้นบอกว่า ไม่เหมาะสม ที่นำหุ่นยนต์มาใช้สวดมนต์และแสดงธรรมราวกับเป็นนักบวชคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะบั่นทอนความศรัทธาเลื่อมใสของบรรดาพุทธศาสนิกชนลงไปได้ โดยบางคนถึงขนาดเรียกหุ่นยนต์ข้างต้นนี้ว่า เป็น “ปีศาจแฟรงเกนสไตน์” กันก็มี ขณะที่ กลุ่มของผู้เห็นด้วย ก็เป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเองนั่นแหละ โดยเห็นว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งทางหลวงพ่อเทนโช โกโตะ บอกว่า เป็นไปได้ว่า ชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เกิดและเติบโตมากับหุ่นยนต์ หรืออย่างน้อยก็การ์ตูนที่มีเรื่องราวของหุ่นยนต์ เลยไม่มีอคติกับการใช้หุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ และด้วยเหตุนี้ ทางวัดโคไดจิ ก็ขอนำร่องในการนำเอา “หุ่นยนต์พระแม่กวนอิมเอไอ” ซึ่งทางวัดเห็นว่า ก็เป็นการพัฒนาในรูปแบบปางหนึ่งของพุทธศิลป์ในพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สร้างแรงจูงใจ ชักชวนให้คนรุ่นใหม่หันหน้ามาเข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม กันมากขึ้น แล้วนำไปปฏิบัติ หรือแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่อสันติสุขจะได้บังเกิด โดยไม่เกี่ยงว่า ธรรมะที่พวกเขาได้รับฟังไปมาจากไหน แม้จากหุ่นยนต์เอไอก็ตาม หุ่นยนต์พระโพธิสัตว์กวนอิม แสดงสมรรถภาพต่อหน้าบรรดาสื่อมวลชน