หมายเหตุ : “สุชาติ ชมกลิ่น” ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อีกหนึ่งนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในพรรคให้ทำหน้าที่ ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เพื่อดูแล ส.ส. ทั้งหมด รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง ส.ส. กับผู้บริหารพรรคอีกด้วย
ทั้งนี้ สุชาติ เผยถึงมุมมองการทำงานการเมืองกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงการทำงานการเมือง โดยมีเป้าหมายเดียว คือ ประชาชน และต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
-สถานการณ์การเมืองที่ดุเดือด และเสียงที่ปริ่มน้ำ มีความเป็นห่วงหรือไม่ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
คิดว่าเสียงปริ่มน้ำไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ทั้งวิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ต้องดูแลในส่วนของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
-วันนี้แกนนำ พปชร. ต้องรับศึกหนัก ทั้งปัญหาพรรคเล็ก ฝ่ายค้านเล่นเกมนอกสภาฯ จะรับมืออย่างไร
การเล่นเกมการเมืองของฝ่ายค้าน ณ เวลานี้ มีการเล่นเกมการเมืองที่สร้างสรรค์มากกว่าเดิม ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากลัว ต่างคนต่างทำหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ ส่วนปัญหาพรรคเล็กพรรคน้อย เป็นเรื่องของอุดมการณ์ของแต่ละท่าน ไม่ขอก้าวล่วง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ก็อยู่ร่วมกันเกือบครบ จะมีปัญหาเพียงแค่ 1-2 คน เท่านั้น
-มีเซอร์ไพรส์อีกหรือไม่ หลังดึงคุณพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ มาร่วม พปชร.
คุณพรศักดิ์ ไม่มีตำแหน่ง ส.ส.เพราะท่านเป็นปาร์ตี้ลิส ซึ่งพรรคเพื่อไทย ไม่มีปาร์ตี้ลิส สักคนเดียว และท่านเป็นคนทำงาน เมื่อไม่มีตำแหน่งก็ไม่สามารถทำงานในพื้นที่ได้ จึงชวนมาในฐานะที่เป็นครอบครัวเดียวกัน คนรู้จักกัน เพราะท่านเป็นคนที่มีคุณภาพ แต่ถามว่าเรามีนโยบายในการดึงคนโน้นคนนี้หรือไม่ เราไม่ได้ตั้งธงว่าจะไปเอาใครมา แต่เราปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ว่า ใครที่เต็มใจจะมาช่วยงานรัฐบาล ใครเต็มใจมาช่วยงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง เราก็ยินดีต้อนรับ
-คุณพรศักดิ์ จะมีบทบาทอะไรในพรรค
การชวนคุณพรศักดิ์ มา ไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องมีตำแหน่ง หรือช่วยงานตรงไหน ซึ่งส่วนตัวผมสนิทกับท่าน หากในพื้นที่ท่านมีปัญหาอะไรที่ผมช่วยได้ ผมก็จะนำเรื่องหารือผู้ใหญ่เพื่อลงไปช่วย โดยท่านเป็นตัวประสานงานมาที่ผม หรือเป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้าน จ.ศรีสะเกษ เพื่อสื่อสารมาถึงผม ร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ
-จุดเด่นอะไร ที่ทำให้คุณพรศักดิ์ ยอมใจอ่อนมาร่วมงานกับ พปชร.
สไตล์การทำงานของผม ตั้งแต่เป็น ส.ส. เมื่อปี 2554 ผมมีเพื่อนทุกพรรคการเมือง ผมเป็นคนประเภทคบกันด้วยใจ ใจถึง เชื่อใจกัน เมื่อชวนมาทำงานการเมืองกันแล้ว เขาต้องเชื่อมาอยู่กับเรา เราตัดสินใจดีแล้ว เขาถึงมาอยู่กับเรา เพราะเขาเชื่อในตัวเรา คือสิ่งสำคัญสุด เราต้องเชื่อถือได้
-หลังตั้งรัฐบาลของ พปชร. ด้วยความยากลำบาก เรือเหล็กเริ่มออกฝั่ง คิดว่าจะเจอมรสุมหนักหรือไม่
เป็นเรื่องปกติ เป็นสีสันของระบบประชาธิปไตย ในการเป็นนักการเมือง ทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ต้องเจอปัญหา เหมือนการทำธุรกิจ ไม่มีอะไรที่ 1+1 เป็น 2เท่านั้น บางครั้งทำธุรกิจ 1+1 เป็น 0 ก็ยังมี ทำการเมืองก็เช่นกัน เมื่อเจอปัญหาเราก็ต้องแก้ไปทีละเรื่อง แต่สุดท้ายเป้าหมายของการทำงาน “เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง เพื่อพี่น้องประชาชน” เราเดินทางได้ถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน
-บทบาทของประธาน ส.ส. ในการดูแล ส.ส.ที่มาจากหลายกลุ่ม และต่างที่มา
เป้าหมายเดียวกันที่มาอยู่ พปชร.เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนเรามีความคิดแตกต่างกันได้ แต่ความสามัคคีต้องยังคงอยู่ ผมเชื่อว่า การมาเป็นประธาน ส.ส. ในวันนี้ ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในพรรค
สิ่งที่ผมต้องทำเป็นอันดับแรก คือ ใจผมต้องเป็นกลาง หมายความว่า การจะคุยกับใครก็ตาม เราต้องเป็นผู้เสียสละก่อน ทั้งเวลา ความคิด ความรู้สึกต่างๆ ที่จะต้องไปรับปัญหาของ ส.ส. แต่ละท่าน แล้วนำมาประยุกต์ มาแก้ไข เพื่อนำรายงานสู่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ไม่ใช่เรื่องใหญ่
เชื่อมั่นว่า จะไม่มีคลื่นใต้น้ำในพรรค มีแต่แฮปปี้ มีแต่ความสามัคคีกัน ทุกคนมีความสุขที่ทำงานในเป้าหมายเดียวกัน และทุกอย่างเดินหน้าเข้าสู่ระบบการพัฒนาประเทศแล้ว
-ปัญหาพรรคเล็กที่เพิ่งเคลียร์จบ คิดว่าจะมีแรงกระเพื่อมขึ้นมาอีกหรือไม่
คิดว่าไม่มีแล้ว ปัญหาที่ผ่านมา อาจจะเกิดจากการสื่อสาร การสื่อสารไปยังพรรคเล็กพรรคน้อย อาจจะมีการสื่อสารหลายคน ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไม่บรรลุตามข้อตกลงเท่านั้นเอง แต่วันนี้เชื่อว่า มีตัวเฮดในการสื่อสารที่ตรงกันว่า เราจะไปในทิศทางไหนกัน เดินหน้าร่วมรัฐบาลกันอย่างไร
-พรรคจะดำเนินมาตรการอย่างไรกับ คุณมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์
เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน คุณมงคลกิตติ์ ก็เป็นหัวหน้าพรรค เราก็เคารพการตัดสินใจของท่าน ทางการเมืองเราเข้าใจจุดยืนของแต่ละคน ท่านอาจจะมีความอึดอัดใจ แต่พรรคที่เหลือสามารถปรับเข้าหากันได้ การเมืองไม่มีอะไรที่ตรงเป็นไม้บรรทัด ต้องมีการปรับโอนเอนเข้าหากัน ประชาธิปไตยถึงจะสวยงาม
-ส.ส.ในพรรค รับฟัง และยอมรับ กลายเป็นมือประสานพรรคคนใหม่หรือไม่
ด้วยสไตล์ที่เป็นคนชัดเจน ทุกคนรู้ผมไม่เคยเอาเปรียบใคร มีแต่เสียสละให้กับพี่น้อง พ้องเพื่อนก่อน และผมมีคอนเนคชั่นกับพรรคทุกพรรค ทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา จะมีเพื่อนระดับแกนนำพรรค ตั้งแต่เป็นผู้แทนปี 2554มีเพื่อนหลากหลาย และสิ่งที่เราคบหาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงวันนี้ เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งเพื่อน ส.ส.ใน พลังประชารัฐ เป็น ส.ส. ครั้งแรกเกือบ 80 คน ส.ส.เก่าประมาณ 20 คน ซึ่งผมเองอยู่ระหว่างกลางด้วยอายุประมาณ 45 ปี จึงสามารถพูดคุยได้ทั้ง ส.ส.รุ่นน้อง และส.ส.รุ่นพี่ คอยเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ เข้ากันให้ได้
-พรรคเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่างไร
เบื้องต้นพรรคได้หารือกับ ส.ส.ในพื้นที่ บางจังหวัดมี ส.ส. ยกจังหวัด เช่น เพชรบุรี ต้องสอบถามว่า มีการสนับสนุน อบจ. ท่านใด ผมก็จะเป็นพี่เลี้ยง รับฟังความต้องการเพื่อนำหารือกับหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ถึงความต้องการของ ส.ส.ในพื้นที่ จะทำการเมืองท้องถิ่นอย่างไร และให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจว่า จะช่วยวิธีไหน ซึ่งการจะใช้ชื่อพรรคในการลงสมัครเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ต้องหารือ และผ่านมติพรรคก่อน ว่าจะให้กลุ่มการเมืองไหนใช้ชื่อพรรคลงสมัครเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย
-พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ หลังพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอบรับมานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค
ท่านนายกฯ มีภารกิจที่เยอะมาก ต้องดูแลเศรษฐกิจ ภาพรวมด้านความมั่นคง ดูแลทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งทุกคนอยากให้ท่านเป็นหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว แต่ถ้าท่านมานั่ง จะทำให้การทำงานขับเคลื่อนของระบบการบริหารประเทศ จะไม่ราบรื่น เพราะต้องแบ่งเวลามาทำงานพรรค คิดว่าท่านแยกถูกแล้ว ท่านเป็นนายกฯ ทำงานให้กับภาคประชาชน และประเทศเต็มตัว
ส่วนพล.อ.ประวิตร รับเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคนั้น ยุทธศาสตร์ คือ การทำภาพรวมพื้นที่ของ ส.ส. แต่ละเขต เพื่อคัดกรองและนำเรื่องเข้าหารือผู้บริหารของพรรค เพื่อทำงานร่วมกัน ประธานยุทธศาสตร์ฯ เหมือนกับการขับเคลื่อนการบริหารให้สมาชิก มีความมั่นใจว่า จะไม่มีช่องว่าง หรือระยะห่าง ทำให้พรรคเกิดความสามัคคี
-อยากฝากอะไรถึงเพื่อน ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ในการทำงานเพื่อประชาชน
เพื่อน ส.ส. ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ผมพูดเสมอว่า เราเป็นสถาบันการเมือง เราต้องรักสถาบันการเมือง เหมือนสถาบันครอบครัว เช่น มีลูก 2 คน คนหนึ่งเรียนจบจากต่างประเทศ ส่วนอีกคนเรียนจบโรงเรียนวัด ซึ่งมีความคิด ความอ่านที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 คนเป็นลูกเรา และเป็นพี่น้องกัน ความคิดต่างกันได้ แต่ความสามัคคีในครอบครัวต้องมี
ทางการเมือง จะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ถูกเลือกตั้งมาเพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชน ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาทำการเมืองแบบสมัยเดิมๆ คิดว่า ถ้าทุกคนเข้ามาทำงานทางการเมือง เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ จะต้องรักษาสถาบันการเมือง หากย้อนมองอดีตที่ผ่านมา ชาวบ้านเอือมระอากับการทำงานการเมืองด้วยความแตกแยก ไม่มีความรักความสามัคคีในหมู่นักการเมืองด้วยกัน
การทำงานการเมืองวันนี้ หากท่านเป็นฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ สู้กันในสภาฯ ด้วยเรื่องเอกสาร หลักฐาน และยื่นอภิปรายถอดถอนคนที่คิดว่า ทำผิด บริหารงานไม่ดี ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ก็ต้องสู้ด้วยหลักฐาน ว่าไม่จริงเพราะอะไร โชว์ผลงานมีอะไร โดยมีพี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เราเป็นนักการเมืองเพื่อประชาชน การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายทำไป แต่การจะมาทะเลาะกันผ่านสื่อ เป็นเรื่องไม่สมควร
ที่ผมมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งเพราะพรรคเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และเชื่อในความซื่อสัตย์ สุจริต ที่ผ่านมามีอย่างสูงมาก สองความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ของพี่น้องประชาชน และนักการเมืองด้วยกัน