ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ตอนเย็นศุกร์นี้ชวนไปดูลิเกทรงเครื่อง อยากรู้แล้วสิว่าหน้าตาลิเกทรงเครื่องเป็นอย่างไร แล้วทำไมจึงเรียก ลิเกทรงเครื่อง ? ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดแสดงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2562 การแสดงมีขึ้นวันศุกร์ 16 สิงหาฯ ตอนเย็นเวลา 17 นาฬิกาเป็นต้นไป รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ รักษาการผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวการแสดงลิเกทรงเครื่องเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง “อิเหนา” ตอน ลานางจินตหรา-อิเหนาชมดง โดยคณะกรณ์กัญจนรัตน์ ในความควบคุมของ อ.กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์กลอนบทละครในรัชกาลที่ 2 มาจัดเป็นการแสดงลิเกทรงเครื่อง อ.หอมหวล นาคศิริ เป็นผู้ประพันธ์บทลิเกชุดนี้ไว้ใช้ฝึกสอนลูกศิษย์ อ.วิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (ลิเก) ปี 2562 หลานของท่าน ถือเป็นพระเอกลิเกที่มีมาตรฐานทั้งการร้อง รำ ด้นกลอน แต่งกลอนอย่างสูง เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับศิลปินในคณะแสดงมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวถึงที่มาลิเกทรงเครื่อง ฉบับย่อ เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาเพชร(ปาณี) จัดแสดงขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงหรือที่เรียกว่า “วิก” ใกล้ป้อมมหากาฬ ริมคลองโอ่งอ่าง ตรงข้ามวัดราชนัดดาราม ผู้แสดงต้องเจรจา ร้อง รำ และแสดงท่าทางตามธรรมชาติ มีวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดง มีการรำที่สำคัญ อาทิ รำเสมอ รำเชิด มีการรำใช้บท ตีบทตามคำร้องที่มีคำประพันธ์ หรือ ด้นสด รำเกี้ยวกันระหว่างตัวพระและตัวนาง มีการรำอาวุธที่ใช้ต่อสู้หรือกระบวนไม้รบ เช่น ดาบ ทวน กริช และกระบอก ผู้แสดงมีทักษะและกระแสเสียงในการร้องที่ดี เพราะต้องร้องส่งเพลงสองชั้น ชั้นเดียว เช่น เพลงครอบจักรวาล เพลงแขกมอญเพลงอาถรรพณ์ เพลงตะลุ่มโปง เพลงหงส์ทอง เพลงสองไม้ เจรจาชัดถ้อยชัดคำ แม่นยำในบทบาทที่แสดง รอบรู้ในเรื่องที่แสดง คล่องแคล่วในบทบาทที่ได้รับ แสดงได้ถึงอารมณ์จนได้รับความชื่นชอบจากผู้ชม ถือเป็นต้นแบบของการแสดงลิเกในยุคต่อมา เพราะมีการรำ การร้องเพลงไทยเดิมเป็นกรอบและแบบแผนที่ใช้ในการแสดงลิเก ครูดอกดิน เสือสง่า ปรมาจารย์ทางด้านลิเกได้คิดประดิษฐ์เพลงร้องที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของลิเก คือ เพลงรานิเกลิงหรือราชนิเกลิง ต่อมาครูหอมหวล นาคศิริ ได้แก้ไขวิธีการร้องให้เป็นแบบฉบับการร้องเพลงราชนิเกลิงมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สำหรับลิเกทรงเครื่องที่จะแสดงนี้ รศ.ดร.ปานใจ บอกว่า จัดเป็นต้นแบบของการแสดงลิเกในยุคต่อมาเนื่องจากกระบวนท่ารำ การร้องเพลงไทยเดิม และทางในการแสดง เป็นกรอบและแบบแผนที่ใช้สำหรับการแสดงลิเก นับเป็นการแสดงที่หาชมได้ยาก เนื่องจากลิเกทรงเครื่องได้เลือนหายไปตามกาลเวลา เนื่องมาจากวิธีการฝึกหัดกระบวนท่ารำ การร้อง การด้นกลอนแบบโบราณ มักไม่ได้รับความนิยมและวิถีทางการแสดงได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสมัยนิยม เพื่อความอยู่รอดทางการแสดง เช่น การแต่งกายด้วยเครื่องเพชรคริสตัลที่ดูแวววาว ผู้ชมจะให้ความสนใจมากกว่าเครื่องแต่งกายแบบโบราณหายาก และที่สำคัญ ผู้แสดงลิเกทรงเครื่องมีจำนวนน้อยลง จึงส่งผลให้หาชมลิเกทรงเครื่องได้ยากในปัจจุบัน “ดังนั้นการแสดงครั้งนี้ ถือเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้รากเหง้าทางการแสดง ผู้สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด” รศ.ดร.ปานใจ กล่าวชวนเชิญ “ลิเกทรงเครื่อง” หนึ่งในมรดกวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชาติ ก่อนเลือนหายไปตามกาลเวลา