ดร.มานะ นมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง"ครั้งแรกของไทย คดีแรกของปปช." ....
ครั้งแรกของไทย คดีแรกของ ป.ป.ช. ................... ประเด็นน่าสนใจเป็นพิเศษในการชี้มูลความผิดนายวิรัช รัตนเศรษฐกับพวก คือการที่ ป.ป.ช. ระบุว่า บุคคลเหล่านี้สมคบคิดกันทำความผิดด้วย “ข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช. ไม่เคยใช้มาก่อน” นั่นคือ 1) ทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ด้วยการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ซึ่ง “เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ” และ 2) ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย ความผิดทั้งสองลักษณะนี้สำคัญอย่างไร.. ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และฉบับปี พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติห้ามมิให้ ส.ส. หรือกรรมาธิการ แปรญัตติ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ โดยมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณนั้น แต่ที่ผ่านก็ไม่สามารถป้องกันนักการเมืองละโมบบางกลุ่มได้ การจัดทำงบประมาณประจำปีของรัฐบาลเป็นช่องทางตักตวงผลประโยชน์ของขบวนการกินเมืองที่ทำกันทุกยุคสมัย โดยเกิดขึ้นในสภาฯ ซึ่งเป็นต้นทางของการนำเงินภาษีประชาชนออกไปใช้ แม้จะตกเป็นข่าวดังบ่อยครั้งแต่ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีให้เห็นเลย ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นชัดเจนคือ ข่าวการแย่งกันเป็นประธานและกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ เพราะเป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ เกิดพฤติกรรมซื้อ – ขายงบประมาณ ขอแลกงบประมาณและการวิ่งเต้นงบประมาณ ให้โครงการไปลงในพื้นที่ของตน แม้บางกรณีอาจหวังได้ไปเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากฐานเสียง แต่จำนวนมากเอาไปเรียกค่านายหน้าหรือกินเปอร์เซ็นต์ หรือโกงกินเองเช่นกรณีที่ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลความผิดนี้ การผันงบประมาณแผ่นดินเป็นกอบเป็นกำและต่อเนื่องไปลงพื้นที่ตนเอง สร้างถนน คูคลอง โรงเรียน พิพิธภัณฑ์และสาธารณูปโภคใหญ่โตมากมาย เช่นที่สุพรรณบุรีในยุคหนึ่งก็เป็นโมเดลที่ชอบทำกัน ขบวนการโกงงบประมาณในสภาฯ จึงทำให้จ่ายเงินภาษีถูกนำไปใช้อย่างบิดเบือน ไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม หลายกรณีเป็นเรื่องสูญเปล่าหรือผิดพลาดจนทำลายโอกาสในการพัฒนาประเทศ เรื่องน่าละอายแบบนี้มีทั้งที่ทำโดยคนของฝ่ายรัฐบาลและฟากฝ่ายค้าน ซึ่งเชื่อว่าบรรดาข้าราชการทุกกระทรวงที่เคยถูกบีบต่างรู้กันเต็มอก โดยเฉพาะในขั้นตอนการแปรญัตติ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ประเด็นที่สอง การทุจริตเชิงนโยบาย เป็นพฤติกรรมที่คนโกงสามารถ “กอบโกยผลประโยชน์ได้ครั้งละมากๆ และหาหลักฐานเอาผิดได้ยาก” จึงนิยมทำกันมากในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา คนที่มีอำนาจทำเรื่องเลวร้ายขนาดนี้ได้ต้องเป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ยิ่งตำแหน่งใหญ่โตยิ่งมีโอกาสสร้างความเสียหายให้ประเทศได้มาก วิธีการคือ พวกเขาจะวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อกำหนดนโยบายบางอย่างให้หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจนำไปปฏิบัติ และด้วยนโยบายนั้นจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องโดยมิชอบบางอย่างหรือเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเป็นตัวเงินหรือผลประโยชน์ทางการเมืองก็ได้ แต่รัฐหรือสาธารณชนกลับต้องรับความเสียหายหรือได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ คำอธิบายที่มุ่งเน้นให้สังคมเกิดความเข้าใจ.. ป.ป.ช. ระบุว่า กรณีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลนี้ มีผู้ร่วมขบวนการมากถึง 24 คน แบ่งเป็นนักการเมือง 6 คน ข้าราชการระดับสูง 9 คน และนักธุรกิจอีก 9 คน วงเงินประมาณมากถึง 4,459,420,000บาท เหตุเกิดที่โคราชและอีก 18 จังหวัด ในช่วงปี พ.ศ. 2555 บุคคลทั้งหมดมีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบายและเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการโดยทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2555 (งบแปรญัตติ) ก้าวใหม่ ป.ป.ช. .. ขอชื่นชม ป.ป.ช. ในการเผยแพร่ผลการพิจารณาคดีนี้ โดยระบุสองลักษณะความผิดดังกล่าว พร้อมพรรณนาพฤติกรรมเป็นขั้นตอน ช่วยให้ประชาชนเข้าใจ “รูปแบบ การวางแผนและร่วมลงมืออย่างเป็นกระบวนการ” ได้ง่ายขึ้น โดยไม่เน้นถ้อยคำภาษากฎหมายที่ยืดยาว ซับซ้อนและเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ ราวเดือนพฤศจิกายนนี้ ขอให้เรามาช่วยกันติดตามว่า ครั้งนี้นักการเมืองยุคสัปปายะสภาสถานจะโปร่งใสหรือซ่อนปมกับงบประมาณแผ่นดิน