กรมวิชาการเกษตร ย้ำชัดหลักขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายใช้ข้อมูลทางวิชาการนำหน้า ยึดประโยชน์เกษตรกร ความปลอดภัยผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แจงเหตุ คำขอค้างกว่า 4 พัน พร้อมวางแผนสกัดปริมาณนำเข้าวัตถุอันตราย นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยในการแถลงข่าว “การดำเนินการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร” ณ ห้องประชุมกรมวิชาการเกษตร ว่า ประเทศไทยยังคงต้องมีการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและความปลอดภัยตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตตามระบบ GAP โดยหากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้ในชนิด และอัตราที่เหมาะสมตามคำแนะนำ เนื่องจากศัตรูพืชในประเทศไทยมีความหลากหลาย และสามารถทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี หากไม่มีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสมแล้วจะทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายและไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นประเทศไทยจึงยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าสารเคมีเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลการนำเข้า และขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ได้พิจารณาออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรไปแล้วจำนวน 9,534 ทะเบียน ​ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายไปแล้วจำนวน 9,534 ทะเบียน แต่ยังคงมีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่รอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่คงค้างการพิจารณาอีกกว่า 4,300 รายการ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคำขอขึ้นทะเบียนที่เป็นสารเดิมที่ขึ้นทะเบียนอยู่ก่อนแล้วและบางคำขอใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพร่วมกัน ซึ่งการพิจารณาอนุมัติรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายแต่ละชนิดต้องไม่เกิดผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบตามหลักเกณฑ์และข้อมูลทางวิชาการ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรณีที่มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายแล้ว หากผู้ประกอบการยื่นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาข้อมูลทางพิษวิทยา การทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้าง ผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ และข้อมูลเอกสารทางวิชาการครบถ้วนถูกต้องก็จะนำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียน ซึ่งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย มีหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ดังนี้ ลำดับแรกให้ความสำคัญกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อยตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ลำดับที่ 2 เป็นสารเคมีที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในกลุ่มแรก โดยใช้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงอันตรายและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งการตั้งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร สำหรับคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ไม่จำเป็นต้องออกเป็นประกาศกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น พร้อมกับได้ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ให้คณะอนุกรรมการฯ สามารถพิจารณาเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอันจำเป็นตลอดจนขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนได้ นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ กำหนดให้มีการประชุมเป็นวาระปกติเดือนละ 2 – 3 ครั้ง โดยพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนจำนวนครั้งละ 50-90 คำขอ ซึ่งการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ข้อ คือ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเป็นพิษต่ำผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องยื่นแผนการทดลองประสิทธิภาพเพื่อทดลองในพืชและศัตรูพืชที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียน พร้อมคำขอขึ้นทะเบียน โดยมีนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบความถูกต้องของแผนการทดลอง เมื่อแก้ไขถูกต้องแล้วผู้ประกอบการต้องทำการทดลองตามแผนที่ผ่านการพิจารณา โดยมีนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ควบคุมการทดลองประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อผลการทดลองเสร็จสิ้นผู้ประกอบการจะต้องจัดทำผลการทดลองให้ผู้ควบคุมการทดลองให้ความเห็นชอบก่อนที่จะนำไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งวัตถุอันตรายทุกชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะต้องใช้ผลการทดลองที่ทำภายในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วพบข้อมูลความเป็นพิษสูงและตรวจพบสารพิษตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรสูงเกินค่าความปลอดภัยบ่อยครั้ง คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังจะพิจารณาเพื่อจัดเข้ารายการวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังและอาจจำกัดการใช้ แต่หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก็จะเสนอจัดเข้าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า และมีไว้ในครอบครองต่อไป นอกจากนี้ ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยเฉพาะสารที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังโดยจำกัดปริมาณการนำเข้า จากเดิมที่เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุอันตรายได้โดยไม่มีการกำหนดปริมาณการนำเข้า “ในความเป็นจริงแล้วการที่มีการพิจารณาให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ มีสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดเดียวกันจะทำให้การผูกขาดทางด้านการตลาดของรายเดิมลดลง อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีทางการเกษตรจะต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมโรงงานผลิต ร้านค้าจำหน่าย และให้คำแนะนำการใช้ที่ถูกวิธีต่อเกษตรกรด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว