"พปชร." ขนเอกสาร 3 คันรถ 510 แฟ้ม สู้คดี 21 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ มั่นใจหลักฐานชัดไม่เคยประกอบธุรกิจสื่อ-รายได้จากสื่อ แตกต่างจาก "ธนาธร-อนค." ประกอบกิจการชัด วันที่ 15 ก.ค.62 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้นำคำชี้แจงพร้อมพยานหลักฐานของ 20 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และของนายสมเกียรติ ศรลัมม์ ส.ส.พรรคประชาภิวัฒน์ มายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่ขอขยายยื่นคำชี้แจงในวันที่ 17 ส.ค. โดยเอกสารมีจำนวน 510 แฟ้มขนมาด้วยรถกระบะบิ๊กอัพ 3 คันรถ นายทศพล กล่าวว่า เอกสารหลักฐานที่นำส่งเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่า ส.ส.พรรคพปชร. ทั้ง 21 คนไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ แม้ในบางรายจะมีระบุอยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัท แต่ในการประกอบกิจการจริง ก็ไม่ได้มีการผลิตสื่อ ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีการถือครองหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อจริง และมีรายได้จากธุรกิจสื่อ ขณะที่ส.ส.ของพปชร.ไม่เคยประกอบธุรกิจสื่อ รวมถึงไม่มีรายรับจากธุรกิจสื่อ ซึ่งหลักฐานที่นำมายื่นประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ แบบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท (สสช1.) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) และเอกสารงบดุลบริษัท รวมทั้งภาพถ่ายการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน อย่างเช่น กรณีของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ประกอบธุรกิจ ฟาร์ม และธุรกิจอาหารแช่แข็งนายอนุชา นาคาศัย มีโรงฆ่าสัตว์ และโรงงานแปรรูปหนังสัตว์ จึงได้แนบภาพถ่ายเพื่อยืนยันรูปแบบการประกอบกิจการให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับทราบ “พรรคเน้นว่าถ้าหากประกอบธุรกิจสื่อจริงก็ต้องมีการทำธุรกิจสื่อมาก่อนแล้ว และมีรายได้ แต่ส.ส.ของพรรคไม่มีใครที่เข้าข่ายดังกล่าวเลย ไม่เหมือนกับส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ 2 คน ที่ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อจริง และมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าว ซึ่งพรรคได้มีการนำรายงานการประชุม ของสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณา ในการกำหนดห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่า จะต้องดูว่ามีการประกอบธุรกิจสื่อจริงหรือไม่ เพื่อให้ศาลได้เห็นกระบวนการทั้งหมดในการออกกฎหมายฉบับนี้ด้วย”นายทศพล กล่าว และว่า ทางพรรคไม่ได้ขอให้ศาลออกนั่งบัลลังไต่สวน แต่ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของส.ส.ที่ถูกร้องเพื่อจะได้เห็นข้อเท็จจริงว่าไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อจริง อย่างไรก็ตามนายทศพล ระบุว่า จะยังมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากส.ส.ผู้ถูกร้องบางคนเช่น นายสุชาติ ชมกลิ่น นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ นายสมเกียรติ เนื่องจากยังรอเอกสารจากหน่วยงานของรัฐทั้งกรมศิลปากร ในเรื่องการออกใบอนุญาตจัดทำสิ่งพิมพ์ และคณะกรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) ในเรื่องใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ที่ยื่นขอไป นอกจากนี้นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบอำนาจให้ทนายความนำหลักฐานและคำชี้แจงกรณีถูกร้องว่าประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน มายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่าบริษัทที่นายเทวัญ เคยถือหุ้นไม่เคยประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชน ตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัท เพื่อค้าขายอสังหาริมทรัพย์ และตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีไม่เคยประกอบธุรกิจสื่อเลย