พื้นที่บ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 2 ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาดินเค็มจัด ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะเกลือที่อยู่ในดินจะเป็นพิษต่อพืช ทำให้พืชขาดน้ำและตาย ซึ่งดินเค็มนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยภายใต้ชั้นดินของภาคอีสาน มีชั้นหินเกลืออยู่ เมื่อหินเกลือเหล่านี้ มีการผุพังสลายตัว จะมีการเคลื่อนย้ายของเกลือขึ้นมาสะสมที่ผิวดิน จึงทำให้ดินบริเวณนั้น เป็นดินเค็มและเป็นปัญหาต่อการเจริญเติบโตของพืช ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงคือกับพืช โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก โดยต้นข้าวจะไม่แตกกอ ปลายใบแห้ง เมล็ดลีบ ผลผลิตต่ำ หรือ ถ้าเป็นพื้นที่เค็มจัดข้าวจะยืนต้นตาย ต้องรีบดำเนินการแก้ไข ทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 จึงเข้ามาดูแลในเรื่องการแก้ปัญหาดินเค็ม โดยนำไดโลไมท์ พืชปุ๋ยสด มาให้เกษตรกร และใช้มาตรการป้องกันการแพร่กระจายของดินเค็ม ควบคุมไม่ให้เกิดพื้นที่ดินเค็มมากขึ้น ทำให้ผืนนา สามารถที่จะกลับมาทำการเกษตรปลูกข้าวได้ผลผลิตอีกครั้ง นายวุฒิชัย จันทรสมบัติ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สังกัดกลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สพข.3 กล่าวว่า ดินเค็มทั้งหมดโดยเฉพาะในภาคอีสานมีทั้งหมด 11 ล้านกว่าไร่ ดินเค็มเล็กน้อย เค็มปานกลาง และเค็มจัด ในส่วนของดินเค็มจัดนี้ จะมีอยู่ประมาณแสนกว่าไร่ ซึ่งดินเค็มเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากชั้นหินเกลือที่อยู่ใต้ดินของภาคอีสาน ประมาณว่าพื้นที่ภาคอีสานจะมีศักยภาพเป็นดินเค็มทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ที่ดินยังไง ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ถ้าเป็นดินเค็ม เล็กน้อย ก็จะส่งเสริม แล้วก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการ ไถกลบตอซัง การใช้ปุ๋ยหมัก การใช้พืชปุ๋ยสด เช่น โสนแอฟริกันในการปรับปรุงดิน ถ้าเป็นดินเค็มปานกลาง ถึงเค็มจัด เราจะมีการแนะนำให้เกษตรกร ปรับรูปแปลงนาก่อน ให้มีคันนาที่ใหญ่ขึ้น เพื่อการเก็บรักษาน้ำ และก็มีการปลูกพืชบนคันนา ซึ่งพืชเหล่านี้จะเป็นไม้ยืนต้น ทั้งที่ เป็นไม้ทนเค็ม และก็เป็นพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่นยูคาลิปตัส และต้นอาคาเซีย ซึ่งเป็นต้นที่ทนเค็มจัดอย่างมาก พืชเหล่านี้ รากจะช่วยลดการแทรกซึมของเกลือขึ้นมาสู่ผิวดินได้ อันดับแรกคือความเค็มลดลงแต่ยังไม่หายไป เพราะอย่างที่กล่าวว่า ดินเค็มมีชั้นเกลืออยู่ด้านล่าง อยู่แล้วของภาคอีสาน ความเค็มจะลดลง ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ ก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในระดับหนึ่ง ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็น จากเดิมที่เป็นดินเค็มจัดจะปลูกพืชได้ครั้งเดียวต่อปี แล้วก็ผลผลิตที่ได้ อย่างเช่น ผลิตข้าวจะประมาณ 100 อย่างมากก็ 200 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนใหญ่ก็จะไม่ถึงด้วยซ้ำ เพราะว่าพอเจอเค็มจัดปุ๊บ ส่วนใหญ่ก็จะตายไป อาจจะไม่ได้เกี่ยวด้วยซ้ำ ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ถ้าในกลุ่มที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัส มีรายได้ในช่วงการตัดไม้ขาย เป็นรายได้เสริมนะครับ อาคาเซียถ้าเกษตรกรเอาไปเผาถ่านเป็นรายได้ ได้อีก อีกอย่างคือหญ้าดิ๊กซี่ ที่เราส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ดินเค็มจัด เราจะใช้ในการคลุมดินแล้วก็ เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัว เป็นรายได้เสริมในครอบครัว วัวก็เหมือนเป็นธนาคารในการออมเงิน สามารถขาย เพิ่มรายได้ในยามจำเป็นได้ ด้าน นางหนูเรียน ท่าไทสง เกษตรกรอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อก่อนมันเป็นดินเค็ม เป็นดินเค็มจัดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย ปล่อยเป็นที่ว่างไว้ พอสถานีพัฒนาที่ดินเข้ามาก็ช่วยเหลือปั้นคันนา ปรับรูปแปลงนาให้ และนำต้นคาเซีย หญ้าดิ๊กซี่ มาให้ปลูก และเมื่อปลูกแล้วคันนาก็อยู่อย่างมั่นคง กักน้ำได้ เกลือก็ค่อย ๆ หายไป โดยก่อนหน้านี้มีผลกระทบ ไม่มีรายได้ เข้ามาในครอบครัว เพราะว่าจะปรับสภาพได้ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็เลยปล่อยเป็นที่ว่างเลี้ยงวัวไป เอาโสนมาหว่าน พอมันเกิดมาก็ปล่อยให้วัวกินโสน กินหญ้านำ ก็อยู่ได้ ก็มีรายได้ขึ้นมา พอได้เลี้ยงครอบครัว ปุ๋ยหมัก แกลบขาว แกลบดำ เอามาให้หมักเป็นปุ๋ย และเอามาหว่าน หว่านตามคันนา เห็นผลดีอยู่ หญ้าก็เริ่มขึ้น ต่อมามีคันนาเนอะ น้ำขัง เกลือก็ยุบลงไป พอปีสองมาหญ้าก็ขึ้น ก็เลี้ยงวัวได้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 ยังคงเดินหน้าปรับปรุง พัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็ม อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกษตรกรรายใดที่ประสบกับปัญหาดินเค็ม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา