ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 'ท่องเที่ยวสยามรัฐ' มีโอกาสร่วมทริปกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินทางไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทางกฟผ. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ มาดำเนินงานจนสามารถพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตก้าวหน้า สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ตามรอยเขื่อนพระราชา บินลัดฟ้าจากกรุงเทพฯ สู่สนามบินสุโขทัย เพียงเครื่องบินแตะรันเวย์ได้ไม่นาน ทุกคนก็พร้อมที่จะออกเดินทางต่อด้วยรถบัส ไปยัง เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จุดเริ่มต้นของทริปที่จะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ผ่านเส้นทางเคี้ยวคดมากมาย ซึ่งนานพอที่จะเห็นตึกรามบ้านช่อง และธรรมชาติอันสวยสดงดงามระหว่างทาง จนมาถึงจุดหมายปลายทาง ท่ามการธรรมชาติที่เต็มไปด้วยภูผาสูง และสายน้ำไหลเอื่อยๆ ดูเย็นตา ยามนี้ กิจกรรมตามรอยเขื่อนพระราชา ได้เริ่มขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่แยกออกมาจากโครงการใหญ่ที่ทาง กฟผ. ได้จัดทำขึ้นเพื่อน้อมลำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมๆ กับเป็นการแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการจัดกิจกรรมดังกล่าวให้ชาวไทยได้ร่วมสืบสานปณิธานงานของพ่อ สานต่อ 9 พระราชปณิธาน เพื่อสร้างความสุขให้ปวงประชาอย่างยั่งยืน อาคารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยทาง กฟผ. ได้น้อมนำพระราชปณิธาน 9 ด้านของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ ด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้านการประดิษฐ์และนวัตกรรม ด้านการดูแลรักษาป่าแลน้ำ ด้านความพอเพียง และเอาชนะความยากจน ด้านการดูแลชาวนา ด้านการศึกษา ด้านการประหยัด ด้านการเสียสละและการให้ทาน ร่วมถึงด้านการส่งเสริมให้เป็นคนดี สำหรับกิจกรรมตามรอยเขื่อนพระราชาเป็นพระราชปณิธานด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนที่จัดเป็นครั้งที่ 2ซึ่งครั้งแรกได้จัดขึ้นที่ กฟผ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ช่วงที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นแห่งความสุข เมื่อมาถึง เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก กิจกรรมแรกที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ คือ การเดินชมอาคารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งในอดีตเรียกว่า อาคารเรือนไม้ ที่ประทับทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาตรวจเยี่ยมการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล รวมทั้งทรงได้ใช้อาคารนี้เป็นที่ประทับแรม โดยเวลานี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ พระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์  ทั้งนี้ นางกมลวรรณ สุริยะมณี เจ้าหน้าที่เขื่อนภูมิพล เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประทับแรมที่อาคารเรือนไม้หลังนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2501 เมื่อครั้งเสด็จมาเพื่อทรงตรวจเยี่ยมการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล รวมทั้งได้ทรงเสด็จลงเล่นน้ำในแม่น้ำปิงที่อยู่เบื้องล่างอีกด้วย หลังจากนั้นได้เสด็จมาอีก 3 ครั้ง คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2504 เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2507 เสด็จมาเพื่อทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพลบนสันเขื่อน และวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2513 เสด็จมาเพื่อทรงปลูกต้นสัก ณ บริเวณสวนดอก แม่น้ำปิงภายในเขื่อนภูมิพล หลังเสร็จสิ้นการเดินชมอาคารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนแล้ว ทุกคนเดินทางต่อไปยัง อาคารเฉลิมพระเกียรติ ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร โดยอาคารเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ทางกฟผ. ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นอาคารเอนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยภายในอาคารมี การจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถูกแบ่งสัดส่วนได้ดังนี้ ส่วนแรกเป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล มีภาพการสร้างเขื่อน วีดีโอ ข้อมูลการบรรยายผ่านเครื่องบันทึกเสียง รวมถึงการจัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในสมัยการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่มีบทบาทการพัฒนาแหล่งน้ำ และภาพการเสด็จพระราชดำเนินเยือนขื่อนต่างๆ รวมถึงการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่างๆ และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ สายอากาศพระราชทาน ซึ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของสายอากาศพระราชทาน และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงมีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงแบบจำลองสิ่งประดิษฐ์ในพระราชดำริอีกด้วย ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ ใช้เวลาเดินชมทั้ง 2 อาคารภายในเ เขื่อนภูมิพลกินเวลานานโข กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการก็ปาเข้าไปเกือบบ่ายโมง งานนี้ขอเพียงเติมพลังกันพออิ่ม ก่อนจะออกไปลุยต่อ กับ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ บริเวณเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง ซึ่งเป็นป่าชุมชน อยู่ที่บ้านท่าปุยตก หมู่ที่ 5 ตำบลย่านรี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ระหว่างทางผ่านโค้งคดเคี้ยวคดกว่าครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อไปถึงก็หายเหนื่อยเพราะชาวบ้านต่างรอต้อนรับพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งหมู่บ้าน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่ง นายอรรณพ โหรวิชิต ช่างระดับ 9 กองบำรุงรักษาโยธา เขื่อนภูมิพล กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2536มีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่นั้นเขื่อนภูมิพล จึงได้เริ่มดูแลผืนป่าเป็นต้นมา โดยยึดหลักตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือการสร้างฝายชะลอน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ทำให้ดินสามารถเก็บรักษาน้ำได้ ทั้งนี้ได้เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2539 หลังจากที่ได้ทดลองมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี และเมื่อเห็นผล จึงได้นำไปใช้กับชุมชนต่อไป "ชุมชนบ้านท่าปุยตกมีความพร้อมในด้านการดูแลผืนป่าและการสร้างฝายชะลอน้ำ จึงเป็นชุมชนแห่งแรกที่ได้เริ่มทำ รวมถึงได้เป็นป่าต้นแบบ มีการช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำตลอดทั้งปี มีการสร้างแนวกันไฟ การปลูกป่าในช่วงหน้าฝน การดับไฟป่า นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่เข้าร่วมดูแลผืนป่าเพิ่มขึ้นอีก 18 ชุมชนด้วย" ร่วมรวมใจภักดิ์ รักพ่อ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว กับกิจกรรมที่ร่วมกันทำตลอดทั้งวัน จนมาถึงไฮไลต์สำคัญของ ทริปตามรอยเขื่อนพระราชา งาน รวมใจภักดิ์ รักพ่อ สานต่อปณิธาน ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บริเวณสวนน้ำพระทัย เขื่อนภูมิพล ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทาง กฟผ.ได้ร่วมกับจังหวัดตาก น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมในการพัฒนาแหล่งน้ำ เขื่อน และพลังงาน รวมถึงตั้งมั่นสืบสาน 9 ปณิธานพ่อหลวงให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติ ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างต่อไป บริเวณสวนน้ำพระทัย โดย นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประธานเปิดงาน รวมใจภักดิ์ รักพ่อ สานต่อปณิธาน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดเวลา 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ท่านได้สร้างประโยชน์สุขให้กับแผ่นดินไทยและมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก เทิดทูนและเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงสั่งสอนแนะนำปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ซึ่งคำสอนของพ่อ ที่ได้พระราชทานไว้นั้นนับเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดิน ส่วน นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านช่วงเวลาความเศร้าที่สุดมานานกว่า 100 วัน แต่ความอาลัยของประชาชนชาวไทยที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงอยู่ตลอดไป ดังนั้นการร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับจังหวัดตาก จัดงาน ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ รวมถึงด้านวิศวกรรมในการพัฒนาแหล่งน้ำ เขื่อนและพลังงาน นับเป็นการพัฒนาที่มีความยั่งยืน สร้างประโยชน์สุขให้ประชาชนและสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ภายในงานรวมใจภักดิ์ รักพ่อ 	สำหรับภายในงานดังกล่าว มีการจัดซุ้มเพื่อให้คนถ่ายรูป มีการประดับไฟสวยงามทั่วบริเวณงาน มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติให้ชมมากมาย อาทิเช่น พ่อของแผ่นดิน โครงการพระราชดําริ นิทรรศการเกี่ยวกับพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน พลังงานทดแทน แบบจำลองโครงการพระราชดำริ ต้นไม้แห่งความดี ฝ่ายชะลอน้ำ การจำลองวิถีชีวิตคนบ้านนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการชีววิถี ซึ่งนิทรรศการเหล่านี้ประชาชนที่มาชมสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งบริเวณอาคารจัดการน้ำ อย่างยั่งยืนก็ได้เปิดให้เข้าชมของใช้ส่วนพระองค์ด้วย บริเวณงานรวมใจภักดิ์ รักพ่อ  ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า หลังจากงานนี้เสร็จสิ้นลง จะมีการจัดแสดงนิทรรศการต่อไปเป็นเวลา 1 ปี โดยประชาชนสามารถเดินทางไปเที่ยวชมได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 จะมีการจัดงานครบรอบ 53 ปี ของการสร้างเขื่อนภูมิพล ซึ่งจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง จุดเริ่มต้นเขื่อนพระราชา ถ้าย้อนอดีต เขื่อนภูมิพล ไปนั้น ถือเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรก และเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่สามารถรองรับน้ำได้สูงสุดถึง 13,462ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2496 และแล้วเสร็จ พร้อมทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2507 แต่เดิมมีชื่อว่า เขื่อนยันฮี ต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า เขื่อนภูมิพล ภายในงานรวมใจภักดิ์ รักพ่อ 	สำหรับ เขื่อนภูมิพล เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ได้ก่อประโยชน์ในหลากหลายด้าน ทั้งการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดความสมบูรณ์ เกิดโครงข่ายด้านการคมนาคมที่ทันสมัยอันนำมาสู่การเติบโตในด้านการท่องเที่ยว สามารถสร้างวิชาชีพต่างๆ และส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกและความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยทำให้มีชีวิตที่ดียิ่งๆขึ้นไป โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีกระแสพระราชดำรัส ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เมื่อวันที่17พฤษภาคม พ.ศ.2507 ว่า เป็นเขื่อนที่สามารถอำนวยความผาสุกสมบูรณ์ให้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง นับเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งในโครงการทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมองการณ์ไกลเล็งเห็นว่า น้ำและไฟเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ขณะที่จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พระองค์ท่าน จึงทรงมีพระราชดำรัสเห็นชอบกับทางรัฐบาล ถึงโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้ และเพื่อทำการผลิตการแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงก่อเกิดโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมา ดังนั้นเขื่อนภูมิพนธ์จึงเป็นเขื่อนแห่งแรกที่ผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยผลิตส่งไปภาคกลาง ทำให้มีไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเก็บน้ำในฤดูฝนและปล่อยน้ำในฤดูแล้ง ช่วยลดปริมาณการขาดแคลนและการท่วมของน้ำได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวต่อว่า เมื่อครั้งอดีตในช่วงหน้าฝน บริเวณภาคกลาง อย่างเช่น จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร น้ำจะมีน้ำท่วมเป็นอย่างมาก แต่หลังจากเขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จ สามารถกักเก็บน้ำในฤดูฝน ส่วนหน้าแล้งก็มีน้ำใช้ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น โดยมีรายได้มาจากการเกษตร พร้อมกับมีพลังงานไฟฟ้าใชิ้อย่างสะดวกสบาย  เขื่อนภูมิพล ในปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล นอกจากจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตาก เป็นที่รวมกิจกรรมท่องเที่ยว พักผ่อนและนันทนาการ โดยภายในบริเวณเขื่อนมีทัศนียภาพอันงดงาม ทั้งนี้ผู้เข้าชมเขื่อนสามารถล่องเรือในอ่างเก็บน้ำ พร้อมร่วมเส้นทางกิจกรรมการเดินป่าในแนวอนุรักษณ์ได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย นอกจากนี้ภายในเขื่อนยังมีห้องพักไว้บริการบุคคลที่เดินทางไปทัศนศึกษาและท่องเที่ยวได้พักแรมชมธรรมชาติอันสวยงาม ห้องพักภายในเขื่อนภูมิพล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อจองบ้านพักได้ที่สำนักงานกลางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โทร 02-436-6047 หรือบ้านพักรับรองเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตากโทร. 055-881-2117 ต่อ 4002 - 4003 หรือ 055-549-509 และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลท่องเที่ยว ติดต่อได้ที่โทร 0-2622-1810-18 ต่อ 353,354 และ www.facebook.com/siamrath.travel โต๊ะท่องเที่ยว เรื่อง/ภาพ [email protected]