“เอสซีจี” ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผนึกทุกภาคส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าพัฒนาโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า ชูเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในอาเซียน เตรียมทดสอบระบบปลายปีนี้และเริ่มดำเนินการต้นปี 63 นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัดเปิดเผยว่า เอสซีจี ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราจึงมุ่งมั่นนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way โดยเชื่อว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังจิตสำนึก สร้างความเข้าใจให้ตระหนักถึงความสำคัญ รวมถึงต้องสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค สู่แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนในวงกว้างอย่างยั่งยืน สำหรับบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเชส จำกัด มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวปฏิบัติข้างต้นคู่กับนโยบาย Zero Waste to Landfill มาโดยตลอด จึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมเช่น โครงการ Solid Pretreatment Plant โครงการ Liquid Waste Mixing โครงการขยะชุมชน เป็นต้น ล่าสุดพัฒนาโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า(Industrial Waste Power Pant) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งถือเป็นธุรกิจต้นแบบตามหลัก Circular Economy “เราเล็งเห็นความสำคัญของปัญหากากอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเชส จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่ไ้ดำเนินธุรกิจด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาต่อยอดและยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งเราใช้เวลากว่า 3 ปี” ทั้งนี้ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชนมาบตาพุด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ หรือ EHIA และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ตรงตามข้อกำหนดกฏหมาย และสอดรับกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้งบกว่า 2,400 ล้านบาท นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียนมาใช้ในโรงงานแห่งนี้ นอกจากนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างด้วยหลักการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain)ตั้งบนพื้นที่ 15 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถือเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย คาดจะเริ่มทดสอบระบบปลายปี 2562 และพร้อมเริ่มดำเนินการต้นปี 2563 นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่า เราไม่เคยหยุดนิ่งในการมองหานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง เป็นเทคโนโลยีสำหรับกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ทั้งยังตอบโจทย์แนวทาง Circular Economy และ Zero Waste to Landfill ของเอสซีจีได้เป็นอย่างดี "เราเป็นรายแรกและรายเดียวในอาเซียนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งสามารถกำจัดกากได้หลากหลายประเภทและขนาด ทั้งชนิดอันตรายและไม่เป็นอันตราย ที่สำคัญไม่มีวัตถุดิบเหลือทิ้งในระบบที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า" นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ Business Stakeholder Engagement Deputy Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะเป็นแบบระบบปิด มีระบบควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับกากอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่ามาตรฐานกาก และเตรียมกากก่อนการกำจัด จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะในเตาแก๊สซิไฟเออร์และเตาแอชเมลติ้งตามลำดับ โดยระหว่างกระบวนการเผาจะได้เศษวัสดุจากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก และเถ้าลอย ซึ่งนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าและปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อนำกลับไปใช้หมุนเวียนในระบบ ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้สามารถกำจัดกากอุตสาหกรรมได้สูงสุดถึง 65,000 ตันต่อปี “ขณะนี้เราได้เดินหน้าแผนสร้างการรับรู้ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งในกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในชุมชน โดยมุ่งตอกย้ำถึงจุดแข็งด้านเทคโนโลยี มาตรฐานการดำเนินงาน ตลอดจนระบบการกำจัดที่ไม่เหลือเศษวัสดุในกระบวนการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น” อย่างไรก็ตาม เอสซีจีอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักรู้ถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี ได้จัดงาน SD Symposium 10 Years “Circular Economy: Collaboration for Action” งานสัมมนาระดับโลกที่หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของสังคม พร้อมนำเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก โดยปีนี้จะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีการ Workshop เพื่อร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับโลก ในการหาแนวทางการบริหารจัดการขยะในประเทศไทยและในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและอาเซียนตามแนวคิด Circular Economy โดยงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 26 ส.ค.62 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22