สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและผู้เกี่ยวข้อง วางแผนรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในฤดูกาลปลูกข้าวโพดรอบถัดไปที่จะมาถึง ย้ำการจัดการแบบองค์รวมตามหลักวิชาการที่ใช้ร่วมกันทั้งชีวภัณฑ์ สารเคมีชนิดและอัตราที่แนะนำด้วยหลัก 3 ถูก ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธี ร่วมกับการใช้ชีววิธี จะเป็นวิธีที่ได้ผลและควบคุมได้ ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) กล่าวว่า จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรที่ประมาณการพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยไว้มากกว่า 6.87 ล้านไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตกว่า 4.62 ล้านตันในปีนี้ ถ้าหากเราไม่เร่งกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เราอาจสูญเสียผลผลิตมากถึง 25-40 % คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4-8 พันล้านบาท ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายในการกำจัดต่อไร่อยู่ที่ 200-400 บาท ฉะนั้นต้นทุนการผลิตโดยรวมของผลผลิตก็อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 800-1,602 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นสมาคมฯ จึงเร่งจัดการอบรม ติดอาวุธทางความรู้แบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ และแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งเราตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรโดยตรงและผ่านภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กว่า 5,000 คน ภายในฤดูกาลนี้ ปลายปี 2561 ได้เกิดการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดครั้งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 50 จังหวัดในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อป้องกัน และจัดการกับหนอนกระทู้ลายจุดอย่างยั่งยืน สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จึงต้องนำองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยต่าง ๆ มาเผยแพร่ และจัดการอบรม “ทั้งนี้ พฤติของกรรมเกษตรกรในบ้านเราที่ส่วนใหญ่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดไหนดีก็จะใช้ตลอด ใช้ซ้ำ ๆ อยู่ชนิดเดียวทั้งด้วยความมั่นใจที่ใช้แล้วได้ผลดี หรือความที่ไม่รู้ถึงปัญหาในการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช การจัดการรับมือกับหนอนกระทู้ลายจุดที่ล้มเหลว เกิดมาจากการจัดการที่ผิดวิธี ผิดที่ และผิดเวลา ตลอดจนหนอนตัวนี้ดื้อยาเร็วดังนั้นต้องจัดการด้วยหลายวิธีร่วมกัน สมาคมฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยปณิธานในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรก้าวหน้ามายกระดับเกษตรกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ก้าวล้ำและถูกต้องให้เกษตรกรไทยและผู้เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องร่วมผนึกกำลังกับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดการกับศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้ข้าวโพดให้ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทย ยังครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับหนึ่งของโลก และให้บรรลุเป้าผลผลิตข้าวโพดอันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ”ดร.วรณิกา กล่าว ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ที่ สายด่วนเฝ้าระวังหนอนกระทู้ Fall Armyworm กรมวิชาการเกษตร โทร. 061 4152517 หรือ http://www.doa.go.th/fc/nakhonsawan/?p=1332 ด้าน นางทองสุก วงค์นารัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ทำอาชีพปลูกเลี้ยงสัตว์มากว่า 30 ปี ปัญหาที่ประสบในปีนี้ ได้แก่ ภัยแล้ง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และผลผลิตราคาตก ปีนี้ขายได้ที่ 4.8-5.50 บาท/กก. อยู่ที่ความชื้นของข้าวโพด จากที่เคยได้ประมาณ 8-10 บาท/กก. ในปีที่ราคาดี ซึ่งปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาด พบปัญหาในการปลูกรอบแรกของปีนี้ ไม่เคยเจอมาก่อนเลย ภายใน 2-3 วัน หนอนทำลายข้าวโพดหมดเลยในแปลงที่ถูกโจมตีพื้นที่ 20 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิต ได้เพียงแค่ 5 ตัน ส่วนในแปลงที่ไม่กระทบได้มากถึง 30 ตัน/20 ไร่ วิธีจัดการ ใช้สารเคมี อีมาเม็กติน เบนโซเอท และลูเฟนนูรอนผสมสัดส่วนเท่ากัน ฉีดพ่นช่วงเช้ามืดและเย็น ในช่วงที่แมลงออกมาหากินบนยอดใบ ซึ่งตรงนี้สำคัญต้องพ่นให้ถูกเวลา ถูกที่ ถูกวิธี ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ผล กลางวันเป็นช่วงที่แมลงหลบอยู่ใต้ใบก็ไม่ควรพ่นต้นทุนในการพ่นต่อไร่ เป็นค่าสารเคมีประมาณ 187 บาทต่อไร่ ค่าแรงพ่น 100 บาท/ไร่ ในหนึ่งฤดูกาลปลูก พ่น 3 ครั้ง ไม่ควรเกินนี้ เพราะพ่นมากไปก็สิ้นเปลือง พ่นไม่ถูกที่ ถูกเวลาก็ไม่ได้ผล เฉลี่ยต้นทุนการกำจัดแมลงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 661 บาท/ไร่ ปัญหาที่พบในการจัดการ ถ้าแปลงข้างเคียงไม่พ่นสารกำจัดแมลง ก็จะไม่ได้ผล สิ่งที่ทำคือ เราจะพ่นแปลงใกล้เคียงไปอีก 3-4 ร่อง เพื่อกันไม่ให้แมลงเข้ามาแปลงเรา “การจะควบคุมให้ได้ผลมองว่า สารเคมี ตัวยาที่ใช้ถูกต้องสำคัญ 50% ช่วงเวลาที่เหมาะสม 10% การจัดการอีก 40% การจัดการหมายถึง คนฉีดพ่น ความตั้งใจในการพ่น ความชำนาญ พ่นถูกจุด เครื่องมือที่กระจายยาได้ดี เข้าถึงจุดที่ต้องการ และต้องศึกษพฤติกรรมแมลง เพราะแมลงเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัวเข้ากับอากาศร้อน เมืองไทยร้อนมาก แมลงก็จะหลบอยู่ใต้ดิน กัดกินโคนต้น”นางทองสุก กล่าว