ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาและต้นไม้เขียวชอุ่ม บริเวณโดยรอบสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้นานาชนิดของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 ของกลุ่มจังหวัดเอกลักษณ์ล้านนาแท้ๆ และถือเป็นหนึ่งจังหวัดที่เหมาะต่อการจัดการประชุมสัมมนาและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในประเทศ หรือโดเมสติกไมซ์ ด้วยศักยภาพของโรงแรมที่พัก เอกลักษณ์ทางการท่องเที่ยว ธรรมชาติที่สวยงาม โครงการในพระราชดำริที่สำคัญต่างๆ ชมบ่อเกลือบนพื้นที่สูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้เดินหน้าส่งเสริมการประชุม สัมมนา ในประเทศไทย สนองนโยบายรัฐบาล สานต่อยุทธศาสตร์ประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ เปิดตัวโครงการประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ ส่งเสริมประชุมสัมมนา ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ โดยชูน่าน เป็นจุดหมายจัดงานอินเซนทีฟไมซ์กลุ่มลูกค้าองค์กร เริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานน่านนคร ใช้เวลาชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงจุดหมายปลาย ก่อนจะลัดเลาะไปตามสันเขาอีกชั่วโมงกว่าๆ สู่ บ่อเกลือสินเธาว์ ในอำเภอบ่อเกลือ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน ซึ่งเดิมถูกเรียกว่า เมืองบ่อ หมายถึง เมืองที่มีบ่อเกลือสินเธาว์ เดิมทีในพื้นที่มีจำนวนบ่ออยู่ 7 บ่อ คือ บ่อหลวง บ่อหยวก บ่อเวร บ่อน่าน บ่อกิน บ่อแคะ และบ่อเจ้า แต่ปัจจุบันบ่อเกลือมีอยู่สองบ่อ คือ บ่อเกลือเหนือ และ บ่อเกลือใต้ โดยบ่อเกลือเหนือมีขนาดใหญ่ มีโรงต้มเกลืออยู่หลายโรง บ่อเกลือสินเธาว์ ส่วน บ่อเกลือใต้ มีโรงต้มเกลือน้อยกว่า ทั้งสองบ่อชาวบ้านยังใช้วิธีการต้มเกลือแบบโบราณในโรงเกลือที่ปิดมิดชิด ภายในมีเตาขนาดใหญ่ขึ้นรูปจากดินเหนียวสำหรับวางกระทะใบเขื่อง หรือกระทะแขวนตะกร้าไม้ไผ่สานใบเล็กๆ ชาวบ้านที่บ้านบ่อหลวง ทำการต้มเกลือสินเธาว์มาตั้งแต่โบราณหลายร้อยปีมาแล้ว โดยชาวบ้านที่นี่ยังได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยสร้างความสุขภายในครัวเรือนได้อย่างสมดุล และเป็นเส้นทางศึกษา ธรรมชาติของศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอีกด้วย สัมผัสศูนย์ภูฟ้าพัฒนา หลังจากนั้นได้แวะเติมพลังด้วยกับข้าวแสนอร่อยของ ร้านปองซา บ่อเกลือวิวรีสอร์ทที่มีเมนูเด็ด อย่าง แกงเขียวหวานปลาดุกกรอบ ไก่ทอดมะแขว่น ซึ่งทุกคนที่มีโอกาสมาถึงที่นี่แล้วไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะมุ่งหน้า สู่ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโครงการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดตั้งเพื่อช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และราษฎรในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา  โดย นายธีรวุธ ปัทมาศ นักจัดงานในพระองค์ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนาที่โรงเรียนประถมศึกษา แล้วขยายไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา นอกจากนี้ยังมุ่งไปที่การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาทดลองจนประสบผลสำเร็จ ก่อนจะถ่ายทอดให้ราษฎรนำไปใช้ ปัจจุบันศูนย์ภูฟ้าพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่เด็ก เยาวชน เกษตรกร ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ทั้งนี้ ภายใน ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จะมีกิจกรรมศึกษาดูงาน เช่น ชมแปลงสาธิตชาอูหลง และวิธีการปลูกชาบนพื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ได้เริ่มแปรรูปชาจีนแบบกึ่งหมัก โดยเริ่มตั้งแต่ การตากใบชาไปจนถึงกระบวนการบรรจุภายใต้ชื่อ ชาภูฟ้า รวมไปถึงยังได้เยี่ยมชมธนาคารข้าว ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ พร้อมกันนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเชิงไมซ์ ตั้งแต่ห้องพัก ห้องประชุมสัมมนา และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประชุมสัมมนา และการแสดงสินค้าในประเทศไทย จนสามารถกระจายรายได้ สู่ชุมชนไดอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เรียนรู้รู้ศาสตร์พระราชา เช้าวันใหม่จาก ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มุ่งหน้า สู่โครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ บ้านน้ำป้าก อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับน้ำเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อมีน้ำเพียงพอประชาชนก็สามารถต่อยอดไปได้มากมาย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า น่าน เป็นจังหวัดที่เคยมีปัญหาการทำลายป่าอย่างรุนแรง สภาพแวดล้อมเป็นเขาสูงชัน ไม่มีน้ำเพียงพอ และจากเหตุอุทกภัยในปี พ.ศ. 2551 ทำให้เกิดดินโคลนถล่มรุนแรงและน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากพื้นดินมีความลาดชันสูง สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้บ้านเรือน ไร่นา สัตว์เลี้ยงและชีวิตราษฎร โครงการปิดทองหลังพระบ้านน้ำป้าก ทั้งนี้ นายธนกร รัชตานนท์ ผู้จัดการโครงการปิดทองหลังพระ จังหวัดน่าน กล่าวว่า โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บ้านน้ำป้ากขึ้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ วางระบบท่อส่งน้ำ ปรับปรุงฝายที่มีอยู่เดิม สร้างฝายใหม่ชะลอการไหลของน้ำในร่องห้วยสาขาต่างๆ ในฤดูน้ำหลาก พร้อมสร้างบ่อพวงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร แก้ปัญหาการทำลายป่า นอกจากนี้ยังมีการทำนาขั้นบันได และส่งเสริมอาชีพต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินโครงการทั้งหมดเป็นการให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วม เป็นอีกหัวใจหนึ่งในแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานไว้คือ ระเบิดจากข้างใน หมายความว่าชาวบ้านจะต้องมีความต้องการพัฒนาและเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของงาน ซึ่งภายหลังจากการพัฒนาใน จังหวัดน่านแล้ว ยังนำแนวทางไปพัฒนาในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี และเพชรบุรี ทำให้พื้นที่ต้นแบบทั้ง 5 จังหวัดมีพื้นที่รับน้ำได้เพิ่มมากขึ้นถึง 2,000 ไร่ ดูภาพกระซิบรักบันลือโลก ช่วงบ่ายๆ ของวัน มุ่งหน้า เข้าสู่ตัวเมืองน่าน แวะสักการะพระพุทธรูปในวิหารจตุรมุข วัดภูมินทร์ ซึ่ง เดิมชื่อว่า วัดพรหมมินทร์ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อ ตำบลในเวียง เวลานี้ โดย เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2139 ต่อมาอีกประมาณ 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 7 ปี เพราะฉะนั้นจึงทำให้วัดภูมินทร์ มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหาร สร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างเมืองน่าน นอกจากนี้ฝาผนังยังแสดงถึงชีวิต และวัฒนธรรมของยุดสมัยที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากที่เดินดูรอบๆ แล้วนั้น ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ปรากฏอยู่บนผนังด้านในอุโบสถจัตุรมุข ทั้งสี่ด้าน ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่แสดงถึงเรื่องราว และวิถีชีวิตตำนานพื้นบ้าน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระเตมีราชชาดก และส่วนที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต เช่น การแต่งกายด้วยผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ และการทำการค้ากับชาวต่างชาติ เป็นต้น และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นเป็นพิเศษในวัดภูมินทร์แห่งนี้ คือ ภาพเสียงกระซิบบันลือโลก หรือภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ที่เป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากันที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้นเอง ร่วมกิจกรรมดีๆของน่าน เช้าวันสุดท้ายของทริปทุกคนพร้อมกันตามเวลานัดหมาย เพื่อเดินทางสู่ วัดพระเกิด เพื่อร่วมทำตุงค่าคิง เพื่อนำมาสะเดาะเคราะห์-สืบชะตา ให้เกิดความสิริมงคล ถือเป็นกิจกรรมที่โดดเด่นของชุมชนวัดพระเกิด อำเภอเมือง จังหวัดน่านเป็นอย่างมาก อีกทั้งที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์ของชุมชนบ้านเกิดให้ได้ชมเรื่องราว และประวัติความเป็นมาอย่างละเอียด รวมไปถึงของดีของเด่น อย่างพระประธานในวิหารที่มีพุทธสรีระขรึมขลัง เบื้องล่างมีช่องเจาะใส่พระองค์เล็กๆ เป็นเอกลักษณ์ และหอพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นเรือนไม้ฉลุลายขนมปังขิงดูละเมียดละไมสวยงาม มณฑปครูบาอินผ่องวิสารโท อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชุมชน ทำตุงค่าคิงชุมชนวัดพระเกิด หลังจากนั้นแวะนมัสการ พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งถ้าใครมาเยือนน่านจะต้องไม่พลาด เนื่องจากพระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานสำคัญ ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน มานานกว่า 600 ปี ทั้งยังมีเรื่องราวตามตำนานและประวัติศาสตร์การสร้างพระธาตุแช่แห้ง มีหลากหลายซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของเมืองน่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะพระธาตุแช่แห้ง ยังคงเป็นพระธาตุประจำปีเถาะโดย ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไปชุธาตุ หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิด ก็จะได้รับอานิสงส์ผลบุญเป็นอย่างยิ่ง นมัสการพระธาตุแช่แห้ง ก่อนจะเดินทางมุ่งหน้าสู่ จุดหมายสำคัญของวัน ณ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวบ้านที่มีเจตนารมณ์ในการลดรายจ่าย ลดการใช้สารเคมีต่างๆ ในครัวเรือน และในชีวิตประจำวัน จึงได้เริ่มต้นรวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ทำผลิตภัณฑ์ใช้เองในครัวเรือนก่อน จากนั้นได้ระดมทุนจากสมาชิกซึ่งมีจำนวน 89 คน ขยายการดำเนินงานมาสู่การผลิตแชมพู สบู่ ครีมทาผิว ปั่นจักรยานชมสวนสมุนไพร ระหว่างที่อยู่ใน ชุมชนน้ำเกี๋ยน ทั้งเดินชม และปั่นจักรยาน ทำใหัรับรู้ว่า ที่นี่ในปัจจุบันกลุ่มชีววิถีได้ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 6 มีสมาชิก 317 คน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแล้ว และผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สามารถทำรายได้ต่อชุมชน โดยมียอดจำหน่ายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาถึง 5 ล้านบาท โดยสินค้าทุกประเภทเน้นการใช้สมุนไพรในปริมานมากกว่าสารเคมี และจำหน่ายในราคาไม่แพง จึงมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กลุ่มมีตลาดอย่างแน่นอน และก่อเกิดรายได้ที่ยั่งยืน เรียนรู้การทำข้าวแต๋น 			 สำหรับ พืชสมุนไพรที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในท้องถิ่น อาทิ ใบหมี่ ดอกอัญชัน มะเฟือง มะกรูด มะขาม ขมิ้นชัน ซึ่งจะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบ ผสมผสานกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนภายใต้แบรนด์ชีวาร์ เป็นสินค้าดีเด่นระดับประเทศของจังหวัดน่าน โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและควบคุมคุณภาพการผลิตจากสถานีอนามัย ตำบลน้ำเกี๋ยน ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการปลูกและพัฒนาพันธุ์สมุนไพร จากศูนย์บริการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ตำบลน้ำเกี๋ยน มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จนมีคุณภาพ จนผู้ใช้บอกต่อปากต่อปาก ทำให้กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนำรายได้มาสู่ชุมชน เพิ่มโอกาสให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ และยังเสริมสร้างให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรแบบธรรมชาติอีกด้วย ชมสวนสมุนไพรบ้านน้ำเกี๋ยน ด้วย น่าน เป็นเมืองปิดที่ไม่ใช่เป็นทางผ่านไปสู่จังหวัดจุดหมายปลายทาง จึงทำให้เมืองน่านยังคงความเงียบสงบเป็นตัวของตัวเอง ปลอดจากความแปลกปลอมของสังคมเมืองที่คอยจะแทรกเข้าไปทำลายความสุขสงบของท้องถิ่น และน่าน ดูจะเป็นเมืองแห่งขุนเขาแห่งสุดท้ายของภาคเหนือ ที่ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไม่เสื่อมคลาย ดังนั้นการที่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดตัวเมืองน่านในฐานะเมืองไมซ์อินเซนทีฟ พร้อมสัมผัสประสบการณ์จากการเยี่ยมชมเส้นทางใหม่ๆ ที่สามารถจัดงานประชุม สร้างความรู้ พร้อมกับการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะขององค์กรต่างๆ จึงเป็นการส่งเสริม โดเมสติกส์ไมซ์ ตามแผนการดำเนินงานของทีเส็บได้เป็นอย่างดี และคาดว่าในปีงบประมาณ 2560 จะสามารถสร้างรายได้ 54,000 ล้านบาท จากจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ 26 ล้านรายอย่างแน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อโครงการปิดทองหลังพระบ้านน้ำป้าก โทร. 0-5473-1784 ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา โทร. 0-5471-0610 หรือ 08-6216-6144 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน โทร. 084 684079 หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลท่องเที่ยว ติดต่อได้ที่โทร 0-2622-1810-18 ต่อ 353,354 และ www.facebook.com/siamrath.travel โต๊ะท่องเที่ยว เรื่อง/ภาพ [email protected]