เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายนิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร จังหวัดยโสธร โดยมีนางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พร้อมด้วยนายประภาส สังข์ขาว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ ผู้แทนสหกรณ์จังหวัดยโสธร และผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดยโสธร เข้าร่วมเปิดกิจกรรมฯ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จังหวัดยโสธรได้ทำเกษตรอินทรีย์มายาวนานอย่างต่อเนื่องของพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดยโสธร จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คัดเลือกให้จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนและขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งด้านการเพิ่มจำนวนเกษตรกร จำนวนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวนผลผลิต แปรรูปจากผลผลิต และองค์ความรู้ด้านต่างๆ จากการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์คือ การทำการเกษตรแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม ทั้งนี้ แนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการทำการผลิต เกษตรอินทรีย์ปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เนื่องจากสารเคมีการเกษตรเหล่านี้มีผลกระทบต่อกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ นอกเหนือจากการปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจรของธาตุอาหาร การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตร และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้และการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา เพราะเกษตรกรต้องสังเกต ศึกษา เกี่ยวกับการทำการเกษตรของฟาร์มตนเอง จังหวัดยโสธร จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร จังหวัดยโสธรขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ด้วยการรวมกลุ่มชาวบ้าน ส่งเสริมการนำดอกกระเจียวเป็นพืชหลักมาปลูกสร้างอาชีพเสริม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก มีสมาชิก 72 ราย ผ่านการรับรองอินทรีย์ 18 ราย จำนวน 62 ไร่ ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เน้นเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชนมีการทำงานบูรณาการหลายหน่วยงาน ปัจจุบันโรงเรียนของชุมชนได้นำการปลูกดอกกระเจียวอินทรีย์เข้าไปบรรจุในหลักสูตร “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” โรงเรียนบ้านโคกนาโกเข้าประกวดเป็นโรงเรียนต้นแบบ ผ่าน 1 ใน จำนวน 20 โรงเรียน ในระดับประเทศ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การชมทุ่งดอกกระเจียวอินทรีย์ การปลูกข้าวในท่อซีเมนต์ การจัดนิทรรศการด้านเกษตรอินทรีย์ การจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร