การทำเกษตรผสมผสาน คือทางออกในการแก้ปัญหาดินเค็ม ผลกระทบจากดินเค็มทำให้พืชที่ปลูกลำต้นแคระแกร็น และผลผลิตต่ำ พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจะเกิดปัญหาดินเค็มมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ปี 2561 กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 จึงได้เข้ามาดำเนินงานโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ ลุ่มน้ำย่อย ในพื้นที่บ้านด่านช้าง ตำบลห้วยยาง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยจัดทำแปลงสาธิตการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ดินเค็มน้อย โดยใช้วิธีกล คือการปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 2 ร่วมกับวิธีพืช คือการปลูกไม้ผลทนเค็ม คือ มะขามเทศ และมะพร้าวน้ำหอม เพื่อเพิ่มรายได้แทนการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว และเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็มน้อยได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความยั่งยืน สร้างอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ นางณัฐพร ผิวจันทึก เกษตรกร กล่าวว่า ดินที่ใช้ปลูกข้าว เป็นดินเค็มน้อย ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนแต่ละปี เมื่อก่อนทำนาไม่มีการปรับปรุงดินที่นาเป็นที่ลุ่มที่เนินไม่สม่ำเสมอกัน ก็มีการปรับที่นาบ้าง แต่ก็ยังไม่เสมอกัน เพราะว่าเราใช้รถไถเล็ก เมื่อกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาช่วยเหลือ จึงได้ทำแปลงสาธิตเกษตรแบบผสมผสาน มาถึงวันนี้ก็ประมาณปีหนึ่ง มะขามเทศ ให้ผลผลิตแล้ว ปีนี้น่าจะได้ผลผลิตจากกล้วยเพิ่ม และถ้าปีนี้ฝนดีคาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเพราะมีการไถกลบตอซังเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และจะใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อลดต้นทุน เมื่อก่อนปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เรามีกล้วย มะขามเทศ พืชผัก และมะพร้าวน้ำหอมไว้กินในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่าย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็ดีขึ้น นางภัทรานิษฐ์ ช่วยสระน้อย นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า การปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็มน้อย โดยไม่มีแหล่งน้ำในไร่นา ทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ปีไหนที่ฝนดีเกษตรกรได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 350 กก./ไร่ ปีไหนฝนแล้งเกษตรกรไม่ได้ผลผลิต ในปี 2561 กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 ได้เข้ามาแก้ปัญหาดินเค็ม โดยจัดทำแปลงสาธิต มีการปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 2 โดยการลบคันนาเดิมที่มีขนาดเล็ก และขยายแปลงนาให้กว้างขึ้นแล้วปรับที่นาให้สม่ำเสมอ ทำคันดินขึ้นมาใหม่ให้มีขนาดกว้าง 2 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลบ่าไว้ บนคันดินปลูกกล้วย มะพร้าวน้ำหอม และมะขามเทศ ทำร่องน้ำกว้าง 2 เมตร ลึก 0.80 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำหน้าฝนไว้ใช้ยามขาดแคลนน้ำ การทำเกษตรผสมผสาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายทาง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการไถกลบตอซังและไถกลบปุ๋ยพืชสดเพิ่มเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน แนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของข้าวและผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน มุ่งเน้นการแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางกลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 จึงได้เข้ามาส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเค็มและป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม โดยใช้วิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและลงทุนน้อย และ 2.เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดินเค็มให้มีศักยภาพ สามารถปลูกพืชเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เพิ่มผลผลิตพืชเพื่อใช้บริโภคและผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยใช้วิธีกลร่วมกับวิธีพืชแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากดินเค็ม ผลจากการดำเนินงานทำให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร แล้วมีการต่อยอดในกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยการปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือก็เก็บขายในชุมชน เพื่อเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น