นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชารส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสหกรณ์ออทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ได้นำสมาชิกฯเข้ายื่นหนังสือถึง ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด เพื่อขอให้ทบทวนมติครั้งที่ ๖/๒๕๖๒ และชี้แจงรายละเอียดการอนุมัติให้ว่าจ้างบริษัททวงหนี้เพื่อดำเนินการกับลูกหนี้และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยหนังสือดังกล่าวมีใจความระบุว่า ตามที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด ชุดที่ ๑๕ ครั้งที่ ๖/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ มีมติอนุมัติมาตรการเร่งรัดดำเนินการกับลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรากฏตามเอกสารสรุปประเด็นการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯครั้งที่ ๖/๒๕๖๒ ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ทั่วไป ประกอบด้วย 1.อนุมัติมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการติดตามทวงถามหนี้โดยสำนักงานทนายความหรือบริษัทติดตามทวงถามหนี้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสหกรณ์ฯ ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ (๑) ส่งรายชื่อกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ค้างชำระมากกว่า ๓ งวด จำนวน ๒,๓๙๑ ราย ให้สำนักงานฯโดยใช้หลักเกณฑ์การประนอมหนี้ตามที่คณะกรรมการฯอนุมัติ (๒) เมื่อดำเนินการติดตามทวงถามหนี้แล้วยังไม่ชำระหนี้ มอบให้สำนักงานฯ ดำเนินการตามกฎหมายโดยฟ้องคดีจนถึงที่สุดและดำเนินการยึดทรัพย์ โดยมีค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการฯกำหนด (๓) ให้สำนักงานฯ ดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่หักฎีกา โดยเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแห่งละ ๑,๐๐๐ บาท 2.มอบฝ่ายจัดการดำเนินการตามระเบียบฯ ต่อไป ข้าพเจ้าในฐานะสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด เลขที่สมาชิก ๐๔๗๗๖๘ รวมทั้งสมาชิกสหกรณ์ฯจำนวนมากมีความรู้สึกเป็นห่วงต่อการดำเนินการของสหกรณ์ฯตามมติดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวไม่มีการชี้แจงรายละเอียดต่อสมาชิกให้รับทราบ และไม่มีการชี้แจงถึงที่มาที่ไปของกลุ่มสมาชิกที่อยู่ในข่ายที่ต้องถูกทวงหนี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จะใช้เพื่อดำเนินการดังกล่าวซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก โดยข้าพเจ้าและสมาชิกสหกรณ์ที่ได้ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดมีความเห็นว่า สหกรณ์พึงต้องรับฟังความเห็นจากสมาชิกสหกรณ์ก่อน และต้องชี้แจงในรายละเอียดให้สมาชิกได้เข้าใจถึงมาตรการ เหตุผลความจำเป็น รวมทั้งมาตรการที่จะใช้จากเบาไปหาหนักอย่างไร มีแผนงานอย่างไร รวมทั้ง ควรให้สมาชิกสหกรณ์ได้ร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์โดยรวมของสหกรณ์และสมาชิกกว่าสองหมื่นคน ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้มิใช่มีประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ หรือผู้จัดการ หรือ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ หรือกรรมการสหกรณ์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ ฉะนั้น พึงให้สมาชิกที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ได้ร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ไขร่วมกันในเวทีที่สหกรณ์พึงจัดขึ้นในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะสมาชิกสหกรณ์จึงขอให้ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ฯให้พิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกโดยแท้จริง อนึ่ง จากการสังเกตการทำหน้าที่ของประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์และคณะกรรมการดำเนินการฯชุดที่ ๑๕ ภายหลังวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ข้าพเจ้ามีข้อกังขาอยู่ ๓ ประการที่ขอให้ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯได้กรุณาตอบข้าพเจ้าในฐานะเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังนี้ 1.เหตุใดสหกรณ์จึงไม่มีการเปิดรับสมัครสอบบรรจุแต่งตั้งผู้จัดการสหกรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาอย่างยาวนาน มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์โดยตรง รวมทั้งบุคคลภายนอก ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์โดยตรง หรือเป็นมืออาชีพ ให้เสนอตัวเพื่อสอบแข่งขันอย่างเป็นธรรม สุจริตและโปร่งใส แต่กลับใช้วิธีว่าจ้างโดยใช้มติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ โดยข้าพเจ้าทราบมาว่า เป็นข้อเสนอของประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ส่อไปในทางที่ไม่สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และนำไปสู่การดำเนินการด้านอื่นๆ ที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ 2..จากการตรวจสอบพบว่า สหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาเป็นจำนวนมาก มีจำนวนหลายฝ่าย แต่กลับไม่มีการเชิญที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาในการประชุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ทั้งที่คณะกรรมการดำเนินการฯชุดปัจจุบัน เป็นคณะกรรมการฯที่สมาชิกเลือกเข้ามาเพื่อหวังให้แก้ไขปัญหาในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งมิใช่เป็นสถานการณ์ปกติ ที่ควรจะรับฟังคำแนะนำหรือคำปรึกษาก่อนการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ โดยทราบมาว่า ประธานกรรมการดำเนินการและผู้จัดการไม่มีแนวคิดในการเชิญที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุมโดยอ้างเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษามีความจำเป็นและค่าใช้จ่ายที่เป็นเบี้ยประชุมหรือค่าพาหนะเดินทางนั้น มิได้ทำให้สหกรณ์ต้องแย่ลงแต่ประการใด แต่สหกรณ์จะได้ประโยชน์มากกว่า และคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป 3.ในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะกรรมการฝ่ายของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และตัวประธานกรรมการดำเนินการ ได้มีการทำสัญญาประชาคมเป็นข้อความในการหาเสียงไว้ต่อสมาชิก จนทำให้สมาชิกส่วนใหญ่หลงเชื่อจึงได้ลงคะแนนเลือกประธานกรรมการดำเนินการฯและกรรมการดำเนินการชุดนี้ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ซึ่งข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในสมาชิกสหกรณ์จำนวนดังกล่าว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอทราบว่า ท่านและกรรมการดำเนินการชุดที่ ๑๕ ได้ดำเนินการตามสัญญาประชาคมที่ได้รับปากและหาเสียงไว้กับสมาชิกไปแล้วจำนวนกี่ข้อ และที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพื่อสมาชิกสหกรณ์ฯจะได้รับทราบและติดตามให้กำลังใจท่านพร้อมคณะต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการให้มีการทบทวนมติคณะกรรมการดำเนินการฯชุดที่ ๑๕ ครั้งที่ ๖/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ในวาระที่ ๒ เรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ข้อ ๒.๓ ขออนุมัติมาตรการเร่งรัดดำเนินการรับลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อกังขาในประเด็นต่างๆ ข้างต้น ภายใน ๑๕ วัน หากข้าพเจ้าและสมาชิกสหกรณ์ที่ติดตามการดำเนินการของคณะกรรมการฯชุดที่ ๑๕ มิได้คำตอบตามกำหนด ข้าพเจ้าพร้อมสมาชิกสหกรณ์จะขอใช้สิทธิตามกฎหมายและข้อบังคับสหกรณ์เพื่อขอเปิดประชุมใหญ่สมัยวิสามัญต่อไป +++++++++