ก้าวแบบยาวๆ ไปอีกขั้น กับการพัฒนา “โดรน” อากาศยานไร้คนขับ ที่ได้รับการขนานนามให้เป็น “อากาศยานแห่งยุค” อย่างยากจะหาอากาศยานชนิดอื่นๆ มาเทียบเทียม โดยจากเดิมที่เป็นโดรนธรรมดาๆ แทบไม่ต่างอะไรจาก “เครื่องบินวิทยุบังคับ” ก็กลับกลายสารพันโดรน ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้สารพัด เช่น โดรนเพื่อรับส่งพัสดุสิ่งของ โดรนเพื่อการถ่ายภาพมุมสูง เป็นอาทิ ไม่นับการใช้โดรนถูกพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการศึกสงคราม อย่างการส่งโดรนไปปฏิบัติการทางทหารทางอากาศ และทางน้ำ ทั้งด้านการสอดแนม สายลับ ตลอดจนการโจมตี อีกต่างหาก สำหรับสถานการณ์ความเป็นไปของโดรนเมื่อช่วงก่อนหน้า ปัจจุบัน “โดรน” ก็ได้ถูกพัฒนาเพื่อการพาหนะโดยสาร แบบไร้คนขับ แต่ใช้บังคับระยะไกล แบบไม่ผิดอะไรกับรถยนต์บินได้กันอย่างไรอย่างนั้น จากบรรดาผู้ผลิตโดรนค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “อี้หั่ง” ยักษ์ใหญ่อากาศประเภทนี้แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อวดโฉมและประสิทธิภาพของ “อี้หั่ง 184” ให้เหินฟ้า จนเป็นที่ฮือฮากันไปก่อนหน้า ในฐานะ “โดรนโดยสาร” จากแดนมังกร “อี้หั่ง 184” โดรนโดยสารของบริษัทอี้หั่ง สัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับ ผู้ให้บริการด้านพาหนะโดยสารสาธารณะ หรือแท็กซี่ ชื่อดัง อย่าง “อูเบอร์” ก็เตรียมขน “อีลีเวต” ออกมาประชันในเวที “โดรนแท็กซี่” ที่ใครๆ ก็จับตาจ้องมอง หลังเขย่าวงการรถแท็กซี่วิ่งบนนถนน จนสะท้านวงการให้ประชาชนเรียกกันจนฮิตติดปากว่า “แท็กซี่อูเบอร์” ไปทั่วโลกกันมาแล้ว ทั้งนี้ ทางอูเบอร์ มีแผนที่จะนำ “อูเบอร์แอร์ (Uber Air)” โดรนแท็กซี่ หรือแท็กซี่บินได้ ออกมาโลดแล่นให้บริการรับส่งผู้โดยสารในปี 2566 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า “อูเบอร์ แอร์” โดรนแท็กซี่ของอูเบอร์ ทางด้านผู้ผลิตด้านอากาศยานชื่อดังแถวหน้าของโลก อย่าง โบอิง ของทางฟากสหรัฐฯ และแอร์บัส ของทางฝั่งยุโรป ในฝรั่งเศส ก็ได้ร่วมสมรภูมิแข่งเดือดด้านโดรนโดยสาร หรือรถยนต์บินได้ กับเขาด้วยเหมือนกัน ขณะที่ ทาง “คิตตี ฮอว์ก” ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก “ลาร์รี เพจ” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “กูเกิล อิงค์” ยักษ์ใหญ่ด้านเว็บไซต์เสิร์ชเอนจินชื่อก้อง ก็ร่วมขอจองในฐานะ “รถยนต์บินได้” รุ่นบุกเบิกกับเขาด้วยเหมือนกัน หลังจากที่จับมือพัฒนาร่วมกับ “ซีฟีร์ แอร์เวิร์ก” มาเป็นเวลานานถึง 8 ปี ด้วยการอวดประสิทธิภาพของ “โครา” เหนือน่านฟ้าแดนกีวี คือ ประเทศนิวซีแลนด์ แบบถึงขนาดนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ “จาซินดา อาร์เดิร์น” ก็สนใจที่จะให้ทางการเวลลิงตัน ร่วมทุนด้วย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากสมรรถภาพของแท็กซีโดรนรุ่นนี้ นอกจากบินได้แบบไร้คนขับเฉกเช่นโดรนทั่วไปแล้ว มันก็ยังทำงานโดยอัตโนมัติผ่านการควบคุมจากระบบนำร่อง ส่วนพลังงานก็ใช้พลังงานไฟฟ้า ที่เมื่อชาร์จไฟเข้าแบตเตอรีจนเต็มแต่ละครั้ง ก็สามารถบินได้ไกลถึง 62 ไมล์ หรือกว่า 99.77 กิโลเมตร เฉียดๆ ร้อยกิโลเมตรโน่นแหน่ะ แถมยังสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 110 ไมล์ หรือ 177.02 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่า ความเร็วได้ไม่เลวเลยทีเดียว แถมยังบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 2 คน เรียกว่า ผู้โดยสารที่ใช้บริการ “โครา” ไม่ต้องนั่งเหงาอย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เพราะมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย “โครา” โดรนแท็กซี่ของ “คิตตี ฮอว์ก” ล่าสุด ก็เป็นรายของ “เอ็นอีซี คอร์ปอเรชัน” หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีชั้นสูงชื่อดัง สัญชาติญี่ปุ่น แดนปลาดิบ เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ด้านโดรนของพวกเขา เป็น “รถยนต์บินได้” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสายตาของคณะสื่อมวลชนในฐานะสักขีพยานที่มารอชม ณ บริเวณสถานสาธิตทดสอบ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงานของเอ็นอีซี ในเมืองอาบิโกะ จ.ชิบะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ โดยการทดสอบสมรรถนะก็เป็นแบบที่เรียกว่า “อีวีโทล (Evtol : Electric vertical take off and landing)” แปลว่า ให้ “ยานพาหนะไฟฟ้าบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง” คล้ายเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยโดรนสามารถบินทะยานขึ้นไปด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่ระยะความสูง 3 เมตร เป็นเวลานานราว 1 นาที ด้วยกัน การทดสอบสมรรถนะ “โดรนโดยสาร” ของบริษัทเอ็นอีซี ในญี่ปุ่น ที่มาที่ไปของการพัฒนารถยนต์บินได้ของเอ็นอีซีในครั้งนี้ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก “หุ่นโดรนบังคับ” แต่ทางเอ็นอีซี ต้องการให้บรรทุกคนจริงขึ้นไปได้ โดยตั้งเป้าว่า อาจจะเป็น 10 ปีข้างหน้า ที่รถยนต์บินได้ของเอ็นอีซี จะช่วยนำพาผู้คนไปไหนมาไหนในฐานะยานพาหนะชนิดหนึ่ง เฉกเช่นโดรนโดยสารของยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งต่างพยายาพัฒนาศักยภาพจนบังเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ณ ชั่วโมงนี้ ทั้งนี้ ก็มีกระเส็นกระสายมาว่า การพัฒนาโดรนโดยสาร หรือรถยนต์บินได้ ทางบรรดาบริษัทผู้ผลิตทั้งหลาย ก็หาได้หยุดยั้งแต่เพียงให้บินได้บนท้องนภาเหินเวหาเท่านั้นไม่ ทว่า ยังมีหมุดหมายที่จะพัฒนาไปถึงการบินได้แม้ในห้วงอวกาศ แบบให้สามารถท่องกันไปในห้วงอวกาศราวกับยานนาซากันทีเดียวเชียวแหละ