ท่ามกลางความก้าวหน้าเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยธรรมชาติก็นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยง และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาครัฐและโรงงานอุตสาหกรรมในไทยได้นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่จากข้อมูลกลับพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งยังไม่มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่มากพอ ส่งผลให้ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยพิบัติในด้านอื่นๆ มักจะเกิดผลกระทบต่อระบบการผลิต ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง และหลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุดชะงัก ทั้งยังส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของประเทศ กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดโอกาสทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ โรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาดรวมทั้งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จึงควรสรรหาเทคโนโลยีเพื่อรองรับหรือป้องกันผลกระทบดังกล่าว รวมถึงมีแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (Business Continuity Management) ให้มากขึ้น ซึ่งยังเป็นผลดีในด้านลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงรักษาที่ในภาพรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ดร.ณัฏฐ์กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 62 นี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยควรสนใจและวางแผนในเรื่องความเสี่ยงทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะจากภัยพิบัติ 3 ประเภทได้แก่ ภัยแล้ง โดยเฉพาะปีนี้ด้วยเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการผลิตเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจกระทบพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น เขตอีอีซีคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา น้ำท่วมฉับพลัน อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับที่รุนแรง แต่อาจมีผลในด้านความล่าช้าและความต่อเนื่องทั้งการกระจายสินค้า การผลิต รวมถึงผลกระทบต่อเครื่องจักรและความปลอดภัย ส่วนปัญหาอุทกภัยคาดปีนี้จะไม่อยู่ในระดับวิกฤติ เนื่องด้วยข้อมูลระบายน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ และข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ไม่น่ากังวลมากนัก ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 โดยเฉพาะช่วงปลายปี (พฤศจิกายน – ธันวาคม) จนยาวไปถึงต้นปีถัดไปที่อาจจะรุนแรง โดยโรงงานอุตสาหกรรมควรมีแผนควบคุมมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมทั้งการจัดการหากอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพบุคลากรหรือผู้ใช้แรงงาน ดร.ณัฏฐ์กล่าวว่า ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาฯ ทั้ง วิทยาลัยประชากรศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยง และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งนาโงยะ (Nagoya Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น นำแนวคิด Area-Business Continuity Management (Area-BCM) หรือแนวคิดบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคำนึงถึงทรัพยากรและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนมาปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยสำหรับรับมือผลกระทบด้านอุทกภัย ทั้งนี้ จุฬาฯได้ร่วมวิจัยและพัฒนาแบบจำลองการบริหารจัดการน้ำร่วมกับศูนย์อุทกภัยและจัดการความเสี่ยงระดับประเทศ (ICHARM) ของประเทศญี่ปุ่นและหน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย , กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านอุทกภัย ผลกระทบทางธุรกิจ ความเสี่ยงด้านสังคม และจัดทำแบบจำลองน้ำท่วมที่แม่นยำ และแชร์ข้อมูลให้กับองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน และทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ได้เริ่มศึกษาและวางแผนการพัฒนาในพื้นที่ศึกษาสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักจากมหาอุทกภัยในปี 2554 คาดว่าการพัฒนาระบบจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างเป็นทางการประมาณปี 2565 เพื่อให้เป็นต้นแบบระบบสำหรับใช้ต่อยอดการพัฒนาสำหรับรับมือภัยแล้งหรือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5และภัยพิบัติในด้านอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯจะนำโมเดล Area – BCM ไปร่วมจัดแสดงในงาน "Maintenance & Resilience ASIA 2019" (MRA 2019) ซึ่งจัดโดยสมาคมบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น (JMA) ร่วมกับบริษัท เอ็กซโปซิส โดยร่วมมือกับภาครัฐบาลไทย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กิจกรรมดังกล่าวเป็นนิทรรศการแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ระบบโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำซึ่งจัดขึ้นในญี่ปุ่นมาแล้วเกือบ 60 ปี และจะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค.นี้