กรมธนารักษ์เอาจริงเตรียมดำเนินคดีขบวนการปลอมเหรียญแพรแถบ ร.10 ระบุมิบังควร โทษสูงสุดจำคุก 20 ปี-ปรับ 4 แสนบาท เผยยังมีเหรียญเพียงพอจำหน่ายอีก 2 แสนเหรียญ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า สภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพทำการปลอมแปลงเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มข้าราชการต้องใช้ประดับเพื่อร่วมพิธีในโอกาสสำคัญจำนวนมาก นำมาวางจำหน่ายตามท้องตลาดและเว็บไซต์จำนวนมาก นับว่าเป็นการกระทำมิบังควร ทั้งนี้ขอเตือนประชาชนและข้าราชการอย่าหลงซื้อ เพราะการนำของปลอมมาใช้ประดับถือว่าเข้าข่ายมีความผิด เพราะการผลิตเหรียญแพรแถบ ต้องได้รับพระราชทานพระราชานุญาตมีพระราชกฤษฎีการองรับตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ใดกระทำการปลอมแปลง หรือลักลอบจำหน่ายถือมีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 250 โทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท กรมธนารักษ์จึงประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิด ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้ว 4-5 ราย นางวรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า กรมธนารักษ์กล่าวว่า เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบปลอมขายเพียงเหรียญละ 600-800 บาท ขณะที่เหรียญของจริงกรมธนารักษ์จำหน่าย 1,600 บาทต่อเหรียญ และเหรียญปลอมมีน้ำหนักเบา การพิมพ์ลวดลายไม่คมชัด ริบบิ้นแพรแถบใช้แบบพิมพ์สี ขณะที่เหรียญของจริงทำจากเส้นไหมถักทอ และตัวเหรียญทำจากเงินแท้ สำหรับผู้สนใจเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 สามารถติดต่อซื้อได้ที่กรมธนารักษ์ เพราะการผลิตทั้งโครงการได้รับอนุญาตผลิต 500,000 เหรียญ ขณะนี้ผลิตไปแล้ว 300,000 เหรียญ และยังผลิตได้อีก 200,000 เหรียญ ทั้งนี้กรมธนารักษ์เตรียมจัดทำระบบประกาศราคากลางเหรียญกษาปณ์ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทุกรุ่นตั้งแต่กรมธนารักษ์เริ่มจัดทำสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นราคาอ้างอิงการซื้อขายในตลาดทั่วไป โดยเฉพาะเหรียญในสมัยรัชกาลที่ 9 นับเป็นยุครุ่งเรืองของการผลิตเหรียญในโอกาสวาระคัญต่างๆนับร้อยวาระ คาดว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า กรมธนารักษ์จะสามารถนำข้อมูลราคากลางของเหรียญทุกประเภทขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เปรียบเทียบราคากับตลาดทั่วไป