ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น้อมนำหลักการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้หลักการดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อถ่ายทอดขยายผลสู่เกษตรกรทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้ ควบคู่การผลิตเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีพและในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯชุมชน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาเรียนรู้และเพิ่มทักษะอาชีพเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯรวมทั้งได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนับแต่การกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ตามความต้องการได้ด้วยตนเอง ไปจนถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินอาชีพทางการเกษตรผ่านกระบวนการกลุ่มและฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมสาธิตในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯชุมชนอันจะทำให้เกษตรกรและผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ตามความต้องการ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้ตรงตามความต้องการตลอดจนได้ความรู้ทางวิชาการมีทักษะและสร้างความมั่นใจการประกอบอาชีพและสามารถนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริไปประยุกต์ปฏิบัติใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองครอบครัวและชุมชนต่อไป นางทรัพย์ถวิล สุขศิริ ราษฏรตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรที่ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษบกิจพอเพียงฯมาประยุกต์ใช้ด้วยการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ฯละทิ้งการใช้สารเคมีทำเกษตรอินทรีย์ลงมือทำจนประสบความสำเร็จ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแปลงเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯจากงานส่งเสริมการเกษตรศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา นางทรัพย์ถวิล สุขศิริ บอกว่าเมื่อตอนเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่มันสำปะหลังปลูกผักเป็นอาชีพเสริม เมื่อปี 2544 ทางจังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดโครงการโรงเรียนเกษตรกรในโครงการพระราชดำริขึ้น มีเจ้าหน้าที่มาฝึกสอนการปลูกผักปลอดสารพิษให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยพลู ได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยและได้ฝึกปฏิบัติจริง หลังจบการอบรมได้นำความรู้ไปใช้ด้วยการปลูกคะน้า และมะระ ปรากฏว่าได้ผลดีลูกใหญ่และสวยงาม จึงนำไปขายในตัวจังหวัดฉะเชิงเทราและออกขายในงานประจำปีของจังหวัดครั้งละ 400-500 กิโลกรัม จนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคว่าหากต้องการผักปลอดสารพิษก็ต้องซื้อที่ผลิตจากบ้านห้วยพลูตำบลเกาะขนุนเท่านั้น “ในปี พ.ศ. 2545 ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษจังหวัดฉะเชิงเทราเข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทูลเกล้าฯถวายผลผลิตผักปลอดสารพิษของกลุ่มร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้พบกับผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้นเป็นต้นมาก็ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิชาการการเพาะปลูกที่ถูกหลักวิชาการตลอดถึงการแก้ปัญหาเรื่องดินไปจนถึงการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด เนื่องจากในพื้นที่สภาพดินเป็นดินเปรี้ยว และมีโอกาสเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ จากทางศูนย์อย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2551 มีเกษตรกรใกล้เคียงให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นจึงได้รวมกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติบ้านห้วยพลู และได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกให้เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิก 24 คน และมีเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มกว่า 200,000 บาท” นางทรัพย์ถวิล สุขศิริ กล่าว ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติบ้านห้วยพลูเป็นแปลงตัวอย่างของศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ แบบเกษตรผสมผสานให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชม และเป็นสถานที่ฝึกอบรมในด้านต่างๆ อีกด้วย ในพื้นที่ 11 ไร่ มีการจัดสรรเพื่อการเพาะปลูกอย่างลงตัวแบบให้พืชแต่ละชนิดที่ปลูกอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จัดแบ่งพื้นที่ทำนา 5 ไร่ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 สำหรับบริโภคในครัวเรือน แปลงพืชสวนปลูกไม้ผล เช่น ส้มโอ มะม่วง มะไฟ มะยงชิด ชมพู่ ขนุน ไผ่มะดัน มะยม มะกอก มะนาว แปลงพืชผักปลูกพืชแบบปลอดสารพิษหมุนเวียนตลอดทั้งปี ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา คะน้า ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง บร๊อคโคลี่ กะหล่ำดอก ผักกาดขาว มะระ มะเขือ พริก ข่า ตะไคร้ โหระพา แซมด้วยพืชสมุนไพร ได้แก่ เสลดพังพอน ว่านสาวหลง ปลูกไม้โตเร็วในรูปแบบวนเกษตรและไม้ดอกไม้ประดับ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ใช้ปุ๋ยหมักกับพืชที่ปลูกทุกชนิด ผลิตและใช้น้ำหมักชีวภาพพืชผักที่ปลูก ผลิตสารไล่แมลงจากสมุนไพรที่ปลูกเอง ส่วนหนึ่งทำโรงเรือนเพาะเห็ด นอกจากนี้ยังเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงปลาในสระที่เก็บน้ำไว้ใช้รดต้นไม้ที่ปลูก ปลาที่เลี้ยงนำมาบริโภคภายในครัวเรือนหากมีเหลือจึงนำออกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ด้านนายมนูญ สกุณี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่งานส่งเสริมการเกษตรศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ได้ส่งตัวเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ตั้งแต่ปี 2549 สำหรับ ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจุดหนึ่งที่ทางศูนย์ฯ ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร โดยให้มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้นมา กลุ่มนี้จัดตั้งตั้งแต่ปี 2550 จนปัจจุบันรวม 12 ปีแล้ว มีการนำปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มาให้เกษตรกรนำไปใช้ จนครบ 1 ปี กลุ่มเกษตรกรก็จะนำเงินมาคืน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนของกลุ่มต่อไป “ปี 2550 กลุ่มนี้มีเงินทุนประมาณ 36,000 บาท ปัจจุบันนี้มี 240,000 บาท และให้สมาชิกกลุ่มทำการกู้ยืมไปลงทุนทำการผลิตเพื่อไม่ต้องไปหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก กู้ยืมกันเองและค้ำประกันกันเอง โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 บาทต่อปี และนำรายได้ส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นค่าบริหารจัดการ ส่วนหนึ่งนำมาปันผล อีกส่วนหนึ่งก็เป็นกองทุนกลุ่มต่อไป” นายมนูญ สกุณี กล่าว นายมนูญ สกุณี กล่าว ทิ้งท้ายว่านอกจากนี้ทางงานส่งเสริมการเกษตรศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาขยายผลส่งเสริมให้เกษตรกรได้น้อมนำไปปฏิบัติใช้ เพื่อให้ยึดหลักความเป็นอยู่ที่พอเพียง มีความพอประมาณ กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน เหลือนำออกขาย มีรายได้ไว้เก็บออม