โครงการวิกฤติโรคหัวใจปลอดภัยทั่วไทยในรพ.ได้ผลหลังทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการและสรุปผลโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” โดยกล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจเพื่อตอบสนองนโยบายในการลดอัตราเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงเร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจ และได้จัดทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” มีโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วม ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เฉียบพลันรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้ การป้องกันผลแทรกซ้อนโดยเน้นการรักษาที่รวดเร็วโดยให้ยาละลายลิ่มเลือดและหรือขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและลดอัตราเสียชีวิต ผลการดำเนินงานตั้งแต่ต.ค.61 – 30 มิ.ย.62 จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 608 แห่ง โรงพยาบาลที่มีห้องสวนหัวใจได้ 43 แห่ง โรงพยาบาลนอกสังกัดก.สาธารณสุข 41 แห่ง มีผู้เข้ารับการรักษา15,737 ราย ข้อมูลที่สมบูรณ์ 11,480ราย เป็นผู้ป่วยประเภท STEMI 4,091 ราย, NSTEMI 5,277 ราย Unstable Angina 1,052ราย ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในระยะเวลาที่กำหนดร้อยละ49.09 และทำ PPCI ภายในเวลาที่กำหนดร้อยละ 47.56 อัตราตาย STEMI ร้อยละ 5.41, NSTEMI ร้อยละ 4.04 ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีการส่งต่ออย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางขึ้นไปสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลที่มีศูนย์หัวใจทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลงน้อยกว่าร้อยละ 10