สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ ‘พระคง’ และ ‘พระบาง’ เป็นพระสกุลสำพูนที่เก่าแก่และเป็นพระยอดนิยมแห่งล้านนา ตามตำนานกล่าวว่า สร้างโดยฤาษีวาสุเทพเช่นเดียวกันกับ ‘พระรอด’ มีอายุการสร้างในราว 1,200 ปีมาแล้ว ลักษณะศิลปะเป็นแบบช่างหลวงหริภุญชัย เป็นพระเนื้อดินเผาที่ปรากฎให้เห็นเม็ดแร่ เนื้อแข็งแกร่งมาก จำแนกพิมพ์ตามสีของวรรณะเช่นเดียวกับพระเนื้อดินเผาโดยทั่วไป พระคง ‘พระคง’ พบที่วัดพระคงฤาษีเป็นวัดแรก จึงขนานนามพระสกุลลำพูนนี้ว่า พระคง พุทธลักษณะพระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรอยู่บนฐานรัตนบัลลังค์ กับประกอบด้วยบัวลูกแก้วจำนวน 18 จุด (บน 9 ล่าง 9) มีใบโพธิ์ทั้งสิ้น 20 ใบ มีทั้งชูก้านพริ้วสลวย เนื้อพระเป็นเนื้อดินเผาละเอียด บางองค์มีแร่ดอกมะขาม องค์พระจะมีสีอ่อนแต่ไม่เหมือนกัน อาทิ สีพิกุล สีขาว สีเขียว สีหม้อใหม่ ฯลฯ สำหรับเรื่องพุทธคุณ กล่าวกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปรากฎพุทธคุณเป็นเลิศด้านป้องกันภยันตรายนานัปการ รวมทั้งเสน่ห์ทางเมตตามหานิยมสูง เช่นเดียวกับพระรอด พระบาง ‘พระบาง’ หนึ่งในพระสกุลลำพูนที่นับว่ามีชื่อเสียงโด่งดังในภาคเหนือเช่นกัน เป็นพระที่นับว่ามีความคล้ายคลึงกับ“พระคง” มากๆ พระบาง มีการค้นพบทั้งหมด 3 กรุ คือ กรุวัดพระคง กรุวัดดอนแก้ว และกรุวัดบ้านครูขาว ซึ่งแต่ละกรุก็จะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันดังนี้ พระคงเนื้อเขียว พระบาง กรุวัดพระคง เนื้อหามวลสารเหมือนกับพระคงมาก ทั้งขนาดและสีขององค์พระ ถ้าไม่สังเกตพุทธลักษณะที่แตกต่าง แต่มีจำนวนน้อยมาก เรียกได้ว่าพระคง 100 องค์จะมีพระบางติดมาเพียง 1 องค์เท่านั้น พระบาง กรุวัดดอนแก้ว นับว่าเป็นพระบางที่มีเนื้อละเอียดที่สุดในพระบางทุกกรุ ถ้าสังเกตความแตกต่างจะเห็นว่า พระพักตร์เป็นผลมะตูม พระนลาฏกว้าง ที่สำคัญขนาดขององค์พระค่อนข้างสูงกว่าปกติและแคบกว่าพระบางกรุอื่น องค์พระค่อนข้างบางอย่างเห็นได้ชัด และขอบพระจะเรียบสม่ำเสมอ ผิดกับพระพิมพ์อื่นๆ ทั่วไปที่สร้างในสมัยเดียวกันซึ่งจะเน้นความสวยงามเพียงพิมพ์ด้านหน้าเท่านั้น พระบาง กรุวัดบ้านครูขาว เป็นกรุที่มีความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดง่ายต่อการพิจารณา นั่นคือเนื้อขององค์พระจะมี 2 เนื้อ คือ เนื้อดินปนกรวดและเนื้อดินหยาบ ซึ่งไม่มีในกรุวัดพระคงและกรุวัดดอนแก้วเลย สำหรับพุทธลักษณะนั้นจะค่อนข้างเหมือนกับพระบาง กรุวัดดอนแก้วมาก พระบาง ด้านพุทธคุณ ความจริงแล้ว ‘พระบาง’ ก็จะมีพุทธคุณเช่นเดียวกับพระรอดและพระคง แต่ด้วยความแตกต่างทางพุทธลักษณะที่ลงความเห็นกันว่าเหมาะกับอิสตรี จึงเน้นไปทางมหาเสน่ห์ และเมตตามหานิยมเป็นสำคัญ พระคงกับพระบาง ที่ว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ทั้ง ขนาด เนื้อหามวลสาร และพุทธลักษณะองค์พระ ทำให้แยกออกได้ยากมากนั้น ก็ยังมีจุดแตกต่างเพื่อพิจารณาแยกแยะว่าองค์ไหนคือ ‘พระคง’ องค์ไหนคือ ‘พระบาง’ ดังนี้ - องค์พระประธานของ “พระบาง” จะมีความอ่อนช้อยกว่า พระวรกายโปร่งและบอบบางกว่า พระพักตร์จะยาวเป็นรูปไข่มากกว่า พระอุระสูง - การวางแขนและหักศอกของ ‘พระบาง’ จะลักษณะดูอ่อนช้อยกว่า - ก้านโพธิ์และใบโพธิ์ของ ‘พระคง’ จะ คม ชัด และลึกกว่า ‘พระบาง’ จากลักษณะความแตกต่างดังกล่าว ทำให้สันนิษฐานกันว่า “พระคง” นั้นสร้างมาเพื่อบุรุษ ส่วน “พระบาง” จะสร้างสำหรับอิสตรีตามที่กล่าวไปแล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “พระคงและพระบาง” นับเป็นพระเก่าแก่ที่น่าแสวงหาไว้สะสมมาก สนนราคาเช่าหาถึงแม้จะถือว่าสูงมากแต่ก็ยังพอสู้ไหวอยู่ ก็ขึ้นกับความสมบูรณ์สวยงามขององค์พระ ประการสำคัญสำคัญคือ พระกรุเก่าอันลือชื่อเช่นนี้ ย่อมต้องมีของเทียมเลียนแบบค่อนข้างมาก การจะเลือกดูของแท้จึงต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจครับผม