คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ในพระไตรปิฎก ไม่มีพุทธพยากรณ์(ทำนาย) ว่า พุทธศาสนาหรือ “พรหมจรรย์” จักมีอายุห้าพันปี มีแต่พระดำรัสของพระพุทธเจ้าว่าตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติตามอริยมรรค (อัฏฐังคิกมัคค์) ตราบนั้นโลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ แสดงว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่นานเพียงใด ขึ้นอยู่กับการปฏิบิตตามมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็น “พรหมจรรย์”ตามแนวพุทธศาสนา สอดคล้องกับบทธรรมคุณที่ว่า ธรรม (คำสอนของพระพุทธเจ้า) เป็น “อกาลิโก”-ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา แต่ได้ยินบ่อยในคำกล่าวของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ที่กล่าวว่า (ณ พ.ศ.นี้) พุทธศาสนาเข้าสู่ยุค “ท้ายพุทธันดร ค่อนพุทธกาล” คือ พุทธศาสนามีอายุได้ 2500 ปีเศษแล้ว อีกไม่ถึง 2500 ปี พุทธศาสนาก็จักถึงกาลอันตรธานหรือเสื่อมสูญไปจากโลก จึงใช้คำกล่าวว่า ท้ายพุทธันดร ค่อนพุทธกาล คำกล่าวนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก ไม่ใช่พุทธจวนะ หรือไม่ใช่คำกล่าวจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฏกไม่มี “พุทธตำนาน” มีแต่การกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย อันเป็นหลักคำสอนใน “ปฏิจจสมุปบาท” เช่นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ามีการบวชภิกษุณี พรหมจรรย์ (พุทธศาสนา) จักมีอายุ 500 ปี นั่นไม่ใช่พุทธทำนาย แต่เป็นการกล่าวถึงว่า “ถ้ามีการบวชภิกษุณี” พรหมจรรย์จะเสื่อมเพราะเหตุนั้นในเวลา 500 ปี แต่เพื่อป้องกันภัย ที่จะเกิดขึ้นนั้น พระพุทธเจ้าจึงป้องกันโดยการวางระเบียบหรือกฎเกณฑ์ให้มีการบวชภิกษุณีครั้งแรกด้วย “ครุธรรม 8 ประการ” ครุธรรม 8 ประการนั้น เป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึกสำหรับผู้เป็นภิกษุณี ให้ข้อปฏิบัติอย่างหนักนั้นกลายมาเป็นสิกขาบทหลายข้อของภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีมีมากหรือมีโดยง่าย อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่การสืบต่อ (วงศ์) ภิกษุณี(ในฝ่ายเถรวาท) ขาดตอนลงหลังพุทธกาลไม่นาน พุทธศาสนามีอายุยืนยาวมาด้วยเหตุปัจจัย ไม่ใช่ด้วย “พุทธทำนาย” ได้ฟังพระอาจารย์สมภพกล่าวในธรรมบรรยายตอนหนึ่งว่า ในตำนานเรื่อง “อุรังคนิทาน” (ตำนานเรื่องพระธาตุพนม) ระบุว่า พุทธศาสนาจักมีอายุ 5,000ปี “ตำนาน” เป็นเรื่องเล่าสมัยหลัง ไม่ใช่เนื้อหาในพระไตรปิฎก ความเชื่อเรื่องอายุของศาสนา น่าจะติดมากับลัทธิพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู ซึ่งระบุอายุกาลของกลียุคว่า นาน 432,000ปี ในสมัยต่อๆมา นิยมเรื่อง “คำนาย” ต่างๆ มากมายแต่ในพระไตรปิฎก เนื่องจากพุทธศาสนาเป็น “กรรมวาท” (เชื่อในกรรม) ซึ่งอธิบายได้ตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” หรือหลักแห่งเหตุปัจจุย จึงไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคำทำนาย แม้แต่ “ความฝัน” พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช้วิธีทำนาย มีแต่คำสอนว่าเรื่องที่ฝันเกิดจากอะไร และทำอย่างไร จึงจะแก้ให้ถูกวิธี คำว่า “พยากรณ์” (พฺยากรณํ) ที่กลายมาเป็น “คำทำนาย” ในภาษาไทย ในภาษาบาลีแปลว่า กล่าว,เปิดเผย, ทำให้เข้าใจ (มักจะใช้กับการกล่าวอ้างว่าได้บรรลุธรรม เช่นกล่าวว่า “พยากรณ์อรหัตตผล” หมายถึงได้บรรลุหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภิกษุรูปใดพูดเหมือนกับว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มักจะถูกภิกษุด้วยกันกราบทูลพระพุทธองค์ว่าท่านพยากรณ์อรหันต์ผล และพระพุทธเจ้าก็จะตรัสว่ท่าน (ภิกษุรูปนั้น) เป็นพระอรหันต์หรือไม่ พระดำรัสนั้น ไม่ใช่คำทำนาย (อย่างที่ใช้คำว่า “พยากรณ์” ในภาษาไทย) แต่เป็นการตรัสให้รู้ อีกความหมายหนึ่ง (ของคำว่า “พยากรณ์” ) ในพระไตรปิฎก คือความหมายว่า “ตอบปัญหา” อย่างคำกล่าวที่ว่า ปัญหาที่พระพุทธเจ้าตอบหรือไม่ตอบ นิยมใช้คำว่ “พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์” เช่น ปัญหาเรื่องการเกิดขึ้น ของโลก หรือปัญหาเรื่องการสิ้นสุดของโลก (ตามความเข้าใจของลัทธิอื่น) พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า “อัพยากตปัญหา” คำว่า “อัพยากต” คือ อัพยากรณ์( อ+พฺยากรณ) นั่นเอง เขียนถึงคำนี้แล้ว ก็นึกถึงคำว่า “ปริวาส” (หรือ “ปริวาสกรรม) ซึ่งกำลังมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป คำว่า “ปริวาส” เป็นคำในพระไตรปิฎก หมายถึงการ “อบรม” เป็นกรณีพิเศษ ในพระไตรปิฎก เห็นใช้ใน 2 ความหมาย คือ 1.ใช้ลงโทษภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆทิเสส 2.ใช้เป็นมาตรการหรือเป็น “กรรม” สำหรับผู้ถือลัทธิอื่นซึ่งมาขอบวชเป็นภิกษุ (ให้เข้าครอสอบรมเป็นเวลา 4 เดือน) ปริวาส คือ การอยู่กรรม อย่างหนึ่ง ในกรณีใช้ลงโทษภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆทิเสส (อาบัติหนักรองจากอาบัติปาราชิก) เป็นให้ประพฤติวัตร 11 ข้อ คือ 1. เคยเป็นพระเถรก็ให้ลดฐานะเป็นพระธรรมดา 2. ต้องอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้น (หรืออาบัติที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน) อีก 3. ตัดสิทธิแห่งความเป็นภิกษุปกติ เช่น ห้ามอุโบสถ ห้ามปวารณา ห้ามโจท (กล่าวหา) ด้วยอาบัติภิกษุอื่น ฯลฯ 4.ตัดสิทธิถืออายุพรรษาที่เคยมี 5. ไม่ให้เดินนำหน้า หรือนั่งในลำดับก่อนภิกษุอื่น 6. ไปยังวัดใด ก็ให้รายงานตัวแก่ภิกษุวัดนั้น ว่าตนกำลังอยู่ปาริวาส มีภิกษุอื่นมายังวัดนั้น ก็ต้องรายงานตัวเช่นเดียวกัน 7. ห้ามอยู่วัดที่ไม่มีภิกษุ (ซึ่งประจากตัวเองไม่ได้) 8. ห้ามอยู่ร่วม (เช่น ในกุฏิ) กับภิกษุปกติ 9.ให้แสดงความเคารพต่อภิกษุอื่น เช่นไม่นั่งสูงกว่าภิกษุอื่น 10.แม้จะอยู่กับภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกัน ก็ไม่ให้อยู่ (กุฏิ) ร่วมกัน ให้ต่องคนต่างอยู่ 11.ห้ามร่วมสังฆกรรมใดๆ กับหมู่สงฆ์ในวัด (แม้แต่พิธีระงับอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งมีสงฆ์จำนวน 20 รูป พระผู้อยู่ปริวาสจะเข้าเป็นสงฆ์ลำดับที่ 20ก็ไม่ได้ นอกจากนี้ ภิกษุรูปอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติต่อภิกษุผู้อยู่ปริวาสให้เป็นวัตรด้วย วัตรในเรื่องนี้ (ซึ่งเป็นการลงโทษภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส) ในพระไตรปิฎกแจกแจงเป็ฯ 94 ข้อ แต่เมื่อให้เข้าใจง่าย จึงกล่าวอย่างรวบรัด พอให้รู้ว่า อยู่ปริวาส คือ “อยู่กรรม” หรือถูกสงฆ์ลงโทษอย่างไร แต่การอยู่ปาริวาส ของพระสงฆ์ไทยที่กำลังนิยมทำเป็นมหกรรมกันอยู่ ความหมายกำลังเปลี่ยนไป อยู่ปริวาส กลายเป็น “ธุดงคกรรม” จากการลงโทษ กลายเป็นยกย่องเชิดชู แล้วการอยู่ปริวาสที่เป็นการลงโทษภิกษุในสิกาขาบท หรือในพระไตรปิฎก จะคงไว้หรือจะไม่มีแล้ว? เข้าใจว่า เดิมทีเดียวคงมีพระคิดจะอยู่ปริวาส (ตามวินัยสงฆ์) จึงไปชวนเพื่อนภิกษุด้วยกันไปอยู่ (ปริวาส) ด้วยกัน ด้วยความวางไม่รู้ ชาวบ้านเห็นว่ามีภิกษุหลายรูปมาปักกลดอยู่ด้วยกัน ก็เลื่อมใส มาทำบุญ ถวายอาหารเป็นการใหญ่ พระก็เลยคิดว่า ทำอย่างนี้ดี ปีต่อมา ก็ชวนกันไป “อยู่ปริวาส” อีก ทำไปทำมา กลายเป็นงานบุญ ทำบุญกับพระธุดงค์ หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการทำผิดต่อพุทธบัญญัติ...ทำบุญกับพระผู้ต้องอาบัติหนักและถูกลงโทษ ได้ฟังพระอาจารย์สมภพไปบรรยายธรรมะให้พระอยู่ปริวาสฟังแล้ว ก็ได้แต่หวังว่า ท่านจะทำความเข้าใจให้ถูก แต่ท่านก็ไม่ได้ติตังให้สติอะไรแสดงว่าผมคิดมากไปเอง? เคยเขียนติงในสยามรัฐ หวังให้พระชั้นปกครองได้ยินได้อ่านเพื่อจะได้คิดแก้ไขไม่ให้ลุกลามไปไกล ก็มีแต่พระที่ท่านร่วมอยู่ปริวาสเขียนโต้มาก็คิดว่าจะไม่พูดอะไรอีก แต่ได้ข่าวมาว่า มีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในวงการ “ปริวาส” ซะแล้ว คือมีการเรี่ยไรชาวบ้านให้บริจาคข้าวสาร ข้าวเปลือก ทำบุญกับพระผู้อยู่ปริวาส ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยหรือเป็นพันรูป แล้วมีการนำข้าวสาร ข้าวเปลือกไปขายเองเงินเข้าโครงการ! ฟังพระอาจารย์สมภพพูดว่า อยากให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ (ส่วนผม) มีความเห็นว่า อยากให้มีกฎหมายคุ้มครองศาสนา (ทุกศาสนา) เพราะคิดว่า ประเทศไทยควรจะเป็นแบบอย่างในการเป็นแผ่นดินของศาสนาทุกศาสนาเหมือน ชมพูทวีปสมัยพุทธกาล มั่นใจว่าพุทธศาสนาจะอยู่ได้ด้วยแนวคำสอนและด้วยความเป็นพุทธศาสนาที่แท้จริงและชัดเจน มีความเห็นว่า การบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” จะเป็นการคุ้มครองคนหากินกับพุทธศาสนาด้วยเล่ห์กลต่างๆ (อย่างที่เห็นอยู่) เห็นไหม เมื่อจะใช้กฎหมายกำจัดเสี้ยนหนามแก่พุทธศาสนา (เถรวาท) เขาก็อ้างว่าเป็นการทำลายพุทธศาสนาด้วยกัน จึงคิดว่า ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองศาสนา ก็จะได้ขึ้นบัญชีศาสนาที่รัฐรับรอง จะได้ชัดเจนว่า ศาสนาที่รัฐรับรอง (เพื่อคุ้มครอง)นั้น คือศาสนาอะไร-นิกายอะไร มีคำสอนและการปฏิบัติของศาสนานั้นๆ อย่างไร ถ้าเห็นว่า ไม่ปฏิบิตตามหลักคำสอนหรือแนวปฏิบัติของศาสนานั้นๆ ก็แสดงว่าเป็นการแอบอ้างและทำลายศาสนานั้นๆ ผมมีความเห็นว่า ในอดีตกาล พุทธศาสนารุ่งเรื่องด้วยพระราชานุภาพในระบอบราชาธิปไตย ยอมรับว่า พระมหากษัตริยแต่ละพระองค์ของไทยมีพระคุณูปการแก่พุทธศาสนาอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องพร้อมที่จะอยู่ในระบอบการปกครองใดๆก็ได้ เช่นที่เห็นว่ าปัจจุบันทุกศาสนาอยู่กันได้ในทุกประเทศและในทุกระบอบการปกครอง ไม่อยากให้ประเทศไทยเปิดช่องให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง “หากิน” ด้วยเล่ห์กลของคนอย่างจำพวก!