ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ เกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคเส้นผม และหนังศีรษะ มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันผู้ชายและผู้หญิงหันมาสนใจในการเสริมสร้างบุคลิกภาพ และปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะทางรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ และเส้นผมมากขึ้น เนื่องใน “วันผมร่วงโลก” (World Alopecia Day) ซึ่งตรงกับวันเสาร์แรกของเดือนสิงหาคมของทุกปี สาขาโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดบรรยายเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคผมร่วง และผมบาง แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ณ ห้องประชุมหน่วยตรวจโรคผิวหนัง รพ.ศิริราช ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยากรประกอบด้วย รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง ผศ.พญ.สุเพ็ญญา วโรทัย อ.ดร.นพ.สาโรช สุวรรณสุทธิ อ.พญ.ดรัลพล ไตรวงศ์วรนาถ และ อ.พญ.กัณห์ชลิต ถนอมกิตติ โครงสร้างพื้นฐานและสรีระวิทยาของหนังศีรษะในเพศชายมีความแตกต่างกับเพศหญิง ทำให้โรคหรือภาวะผิดปกติของหนังศีรษะที่พบบ่อยในเพศชายและเพศหญิงไม่เหมือนกัน พบว่าในผู้ชายส่วนใหญ่หน้าผากจะเถิกลึกขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะที่ในผู้หญิงจะพบว่าผมบางบริเวณที่กลางศีรษะ ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นไม่มากแพทย์จะรักษาด้วยยาทา ยารับประทาน ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่เป็นมากจะใช้เทคโนโลยีการปลูกผมถาวร โดยเราสามารถสังเกตได้ด้วยการวัด ซึ่งจะสงสัยว่าเป็นโรคผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ถ้าวัดระยะห่างของแสกเกิน1ซม.(Path width) ผู้หญิงที่มีความกว้างจากคิ้วถึงไรผมบนหน้าผากเกิน 6.5ซม.(Mid frontal point) ผู้ชายวัดระยะห่างจากหัวคิ้วถึงM Shapeมากกว่า8ซม.(Frontal recession) และผู้ชายและผู้หญิงที่วัดระยะห่างของขวัญเกิน2ซม. (Vertex) รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง หัวหน้าสาขาโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา และรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาผมร่วง ส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากปัจจัยของพันธุกรรม และฮอร์โมน ในผู้ชายพบถึงประมาณ 75%และในผู้หญิงพบถึงประมาณ50% ส่วนสาเหตุอื่นที่รองๆ มา เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เกิดการทำลายที่ตัวรากผม และจากสาเหตุอื่น เช่น โรคหนังศีรษะอักเสบต่างๆ เชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญที่เกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงก็คือ ผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า Testosterone ที่มีต่อรากผม และในผู้ป่วยซึ่งมีประวัติของพันธุกรรมคือ ผมบาง ศีรษะล้าน ก็จะทำให้เกิดการหลุดร่วงง่ายขึ้น และผมจะมีลักษณะเส้นเล็กลงเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจัยอิทธิพลของฮอร์โมนนั่นเอง ซึ่งต้องมีการวินิจฉัยที่แม่นยำ โดยผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และประเมินระยะของโรค ซึ่งในการรักษาสำคัญที่ต้องมีความสม่ำเสมอ โดยผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในการรับประทานยา และทายา “ปัจจุบันที่โรงพยาบาลศิริราชเริ่มมีการนำ Sculp Cooling Divice ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ เข้ามาศึกษาวิจัย เครื่องดังกล่าวมีข้อบ่งชี้ในการลดโอกาสการร่วงของเส้นผมในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเครื่องมือดังกล่าวใช้หลักการทำงานของเครื่องที่ใช้ความเย็นมาหล่อเลี้ยงที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้เส้นเลือดมีการหดตัวจนไปเลี้ยงที่บริเวณหนังศีรษะน้อยลง ทำให้ยาเคมีบำบัดที่อยู่บริเวณรากผมก็จะน้อยลง เกิดพิษต่อเซลล์รากผมน้อยลง ซึ่งจะทำให้ลดโอกาศการเกิดการหลุดร่วงของผมของผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด โดยอาจไม่ได้ผล100% แต่ก็สามารถช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้พอสมควร” “โรคเส้นผมเปรียบเสมือนกระจกส่องสุขภาพ เมื่อใดมีปัญหาผมร่วง อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า มีปัญหาหรือมีข้อผิดปกติในร่างกาย จึงควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อหาสาเหตุและรีบแก้ไข เพื่อจะได้มีเส้นผมที่มีสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” สำหรับกิจกรรมการบรรยายเนื่องใน “วันผมร่วงโลก” (World Alopecia Day) นี้เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ทราบถึงโรคผมร่วงว่ามีผลกระทบอย่างไร มีสาเหตุอย่างไร วินิจฉัยอย่างไร และมีการรักษาอย่างไร เพื่อจะได้สามารถนำความรู้ต่างๆ ที่ได้ไปดูแลตัวเอง โดยหวังว่าอย่างน้อยจะทำให้ผู้ป่วยมีความสบายใจ มองเห็นทางออกของโรคว่า ไม่ได้เป็นโรคที่ทำให้หมดหวัง หมดหนทางการรักษากันเสียทีเดียว แล้วก็ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป “ขณะนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราชได้เปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคเงินเพื่อจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเส้นผม กองทุน D003879 โดยติดต่อได้ที่ ศิริราชมูลนิธิ” รศ.นพ.รัฐพล กล่าวทิ้งท้าย