พาณิชย์ย้ำลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.-แนวโน้มค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าส่งผลดีต่อส่งออก แต่ไม่วางใจจับตาสงครามการค้ามะกัน-จีนขยายวงกว้าง ขณะที่พาณิชย์เตรียมมาตรการกระตุ้นรองรับ พร้อมนัดเอกชน 14 ส.คนี้.ถกหาทางออกขับเคลื่อนส่งออก น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางจีนทยอยปรับอัตรากลางเงินหยวนตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ส่งสัญญาณว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนได้เริ่มขยายวงกว้างไปสู่สงครามการเงิน ส่อเค้ายืดเยื้อไปอีกพักใหญ่ แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะออกแถลงการณ์ปฏิเสธการจัดการค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการส่งออกและให้เหตุผลว่าค่าเงินหยวนสอดคล้องกับอุปสงค์อุปทานและพื้นฐานของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ อัตรากลาง 7.0039 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอีกเล็กน้อย ทั้งนี้ประเมินว่าแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลดลง และเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนตัวลงจากขณะนี้ ประกอบกับมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ออกมาก่อนหน้านี้จะเป็นอีกกลไกหนึ่งเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อีกทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย โดยแนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง จะส่งผลกระทบทางตรงให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท ปรับตัวดีขึ้นจากระยะก่อน และมีผลทางอ้อมสนับสนุนให้สินค้าส่งออกของไทยการแข่งขันได้ดีขึ้นส่งผ่านต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจในประเทศ กระตุ้นภาคการผลิต และเพิ่มการจ้างงานต่อไป นอกจากนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณเงินเพื่อการหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุปสงค์การบริโภคและทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ เมื่อรวมผลกระทบจากทางผลทางด้านรายได้จากการส่งออกที่มากขึ้น และราคานำเข้าที่สูงขึ้น ทิศทางเงินเฟ้อน่าจะปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า และสถานการณ์อื่นๆ อาจทำให้ค่าเงินยังมีความผันผวนผู้ส่งออกควรพิจารณาทำประกันความเสี่ยงและจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายประกอบด้วยเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิด ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ขณะนี้ได้เตรียมมาตรการดูแลและกระตุ้นการส่งออก รวมถึงการค้าชายแดน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกค่อนข้างสูง เพื่อกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก และลดการพึ่งพาตลาดเดิม อีกทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าก็เป็นอีกมาตรการเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน โดยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนในวันที่ 14 ส.ค.62 จะได้หารือในรายละเอียดและกำหนดแนวทางเพื่อขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติ