คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” จากปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย พบว่าประชากรไทยสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดสูญเสียฟันเร็วกว่าปกติ เช่น โรคปริทันต์อักเสบ สูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อสูญเสียฟันไปแล้ว จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการสลายของกระดูกเบ้าฟัน และขากรรไกรมากขึ้น รศ.ดร.ดุษมณี เสรีวัฒนาชัย สาขาสรีรวิทยา ภาควิชาชีววิทยาช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ จากผลงานวิจัย “คุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์ และโครงสร้างพื้นผิวของสารแทนกระดูกที่ได้จากขบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอน” ได้คิดค้น “สารแทนกระดูกรีไซเคิลพร้อมใช้” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากกระบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอนโดยทันที และกระบวนการที่ใช้สามารถทำได้ทันทีในคลินิก และทดสอบได้แล้วว่าไม่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ก่อนนำมาใส่กลับเข้าไปในคนไข้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ขั้นตอนการทดลอง “องค์ประกอบของอวัยวะในช่องปากไม่ได้มีเฉพาะฟัน เราควรให้ความสำคัญกับส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย กระดูกเบ้าฟัน เป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้ฟันมีความแข็งแรง เมื่อกระดูกเบ้าฟันมีความแข็งแรงและมีปริมาณเหมาะสม ก็จะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้การรักษาทางทันตกรรมมีความสำเร็จ เหมือนกับพื้นดินที่มั่นคงแข็งแรง เมื่อปลูกต้นไม้ลงไป ก็จะสามารถทนกับแรงต่างๆ ที่มากระทบได้ดี สารปลูกถ่ายแทนกระดูกมีความสำคัญต่อการเพิ่มมวลโดยรวมของกระดูกเบ้าฟันก่อนการวางแผนรักษาทางทันตกรรม ซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่มากมายในท้องตลาด แต่มีราคาสูงมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ในทุกกลุ่มคน จึงมีการศึกษาคุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์ และโครงสร้างพื้นผิวของฟันที่ถูกถอนโดยทันที เพื่อนำมาแปรรูปใช้เป็นสารแทนกระดูก เนื่องจากมีความได้เปรียบจากสารที่ใช้อยู่เดิม เพราะฟันเป็นชิ้นส่วนในร่างกายมนุษย์ ไม่มีความเป็นพิษต่อตัวผู้เข้ารับการรักษาเอง และปลอดภัยต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต ซึ่งเนื้อเยื่อของฟันแต่ละชั้นมีองค์ประกอบคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ สารแทนกระดูกที่ได้จากกระบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอนจึงมีความคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ โดยมีทั้งสาร อนินทรีย์หลักคือ Calcium และ Phosphate และสารอินทรีย์อื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่จะสามารถสลายตัวได้เองในร่างกาย โดยการสลายตัวที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ เหมาะสมกับเวลาที่ร่างกายสร้างกระดูกใหม่มาทดแทน” รศ.ดร.ดุษมณีกล่าวว่า การวิจัยชิ้นนี้จะมีประโยชน์ทั้งต่อบุคลากรทางทันตกรรม และกลุ่มคนที่ต้องการรับการรักษาเพื่อปลูกกระดูกเบ้าฟันให้เพียงพอก่อนการรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ เพราะจะทำให้สามารถประหยัดงบฯทางการสาธารณสุขของประเทศได้ในระยะยาว เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ที่เข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างมาก จากเดิมที่ใช้สารแทนกระดูกที่ทำมาจากกระดูกวัว หรือสารสังเคราะห์ ซึ่งมีราคาสูง ขณะที่สารแทนกระดูกที่ได้จากกระบวนการแปรรูปฟันที่ถูกถอนของผู้เข้ารับการรักษาเองที่เราคิดค้นขึ้นนั้นจะสามารถนำมาใช้ได้ปลูกถ่ายได้ทันที และที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก ปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาคุณลักษณะทางเคมีฟิสิกส์และโครงสร้างของพื้นผิว โดยใช้เทคนิคสแกนนิ่งอิเล็กตรอนไมโครสโคป วิเคราะห์โครงสร้างคริสตัล องค์ประกอบทางเคมีในเนื้อสาร และอัตราการละลายแคลเซียมและฟอสเฟตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังประเมินประสิทธิภาพการกำจัดแบคทีเรียจากกระบวนการแปรรูปฟันในคลินิกว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำจัดแบคทีเรียหรือไม่ ก่อนนำมาใส่กลับเข้าไปในคนไข้ ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้สามารถนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อวางแผนรักษาผู้ป่วยที่ก่อนรับการฝังรากฟันเทียมได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ องค์ความรู้พื้นฐานจากผลการทดลองยังสามารถนำมาศึกษาวิจัยต่อยอด เพื่อพัฒนาแนวทางการศึกษาเปรียบเทียบการใช้สารแทนกระดูกชนิดต่างๆ ให้เหมาะสม และได้ผลดีที่สุดต่อผู้เข้ารับการรักษาได้ต่อไป โดยหวังให้งานวิจัยนี้มีผลสำเร็จไปถึงขั้นทดลองในคน เพราะผลวิจัยที่ได้จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปยืนยันเพื่อประกอบการตัดสินใจของทันตแพทย์ในการเลือกใช้สารแทนกระดูกนี้ได้ “โครงการวิจัยนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งบุคลากรในภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ภาควิชาชีววิทยาช่องปาก ภาควิชาจุลชีววิทยาช่องปาก ส่วนงานของโรงพยาบาลทันตกรรม รวมทั้งหน่วยวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร และนักศึกษาปริญญาโท นายมานพ คานียอร์ โดยทุนโทเรนี้เป็นสิ่งแทนความสำเร็จของทุกๆ คน และเป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยเดินหน้าทำงานต่อไป” รศ.ดร.ดุษมณีทิ้งท้าย “ฐิติรัตน์ เดชพรหม”