ปรากฏการณ์ความกลัวอิสลาม (Islamophobia) แพร่กระจายขยายตัวไปทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา ของการเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงของการปฏิบัติการโจมตีโดยกลุ่มสุดโต่งที่อ้างศาสนาบังหน้า ทำให้ชาวมุสลิมถูกมองในแง่ลบอย่างเหมารวม ถูกเลือกปฏิบัติในหลายสังคม และสิ่งเหล่านี้ยิ่งหยั่งรากลึกทวีความแตกแยกแบ่งแยกความเป็นเขาเป็นเรา ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป มนุษย์ที่มีความเชื่อแตกต่างคงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เราต้องเรียนรู้ศาสนาที่แตกต่าง ผู้คนที่ความเชื่อแตกต่าง “ศาสตราจารย์ ดร.จรัล มะลูลีม” หัวหน้าโครงการอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก ท่ามกลางปรากฏการณ์ความกลัวอิสลามนั้นได้สะท้อนออกมาชัดเจนในหลายประเทศ โดยเฉพาะล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่นำเรื่องนี้มาใช้หาเสียงจนชนะเลือกตั้ง และได้ประกาศห้ามพลเมือง 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯ จนต้องต่อสู้กับกระแสภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็ต้องยอมลงบ้างแล้ว เพราะว่ามีกระแสต้านว่าข้อกำหนดเหล่านี้เป็นการกีดกันทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการต่อต้านชาติพันธุ์ด้วย อีกทั้งยังผู้นำสหรัฐฯ ยังต้องต่อสู้กับกลไกภายในประเทศด้วย อ. จรัลกล่าวว่า ไม่มีศาสนาไหนที่สอนให้คนใช้ความรุนแรง ในศาสนาอิสลามศาสดามูฮัมหมัดได้กล่าวไว้ตั้งแต่กว่า 1,400 ปีมาแล้วว่า สานุศิษย์ของท่านต้องไม่เป็นคนสุดโต่ง หรือใช้ความรุนแรง เพราะว่าอิสลามนั้นหมายถึงประสานจิต และการยอมนจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นความรุนแรง ความสุดโต่งจึงไม่ใช่ ไม่ต่างจากทางมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางของศาสนาพุทธ เรียกว่า อิสลามก็ให้ค่ากับความเป็นสายกลาง ดังนั้นจึงอย่าไปดูคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งใช้ปัญหาทางการเมือง ปัญหาการแย่งชิงดินแดน ว่าเป็นเรื่องของอิสลาม คนมุสลิมมีอยู่ทั่วโลกในโลกที่เรียกว่าโลกาวิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ถือเป็นหนึ่งในดินแดนส่วนที่มีศาสนาอิสลามอยู่มากที่สุดในโลก และบ่อยครั้งเรียกดินแดนเหล่านี้ว่าเป็น “หมู่เกาะมุสลิม” สำหรับประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมในอาเซียน มาจากสำนักคิดหนึ่งที่เรียกว่า “สำนักคิดซุนหนี่” จะกล่าวก็คืออิสลามก็เหมือนศาสนาอื่น คือมีสำนักคิดที่แตกต่างกัน โดยเป็นการแตกต่างกันในเรื่องของส่วนปลีกย่อย ไม่ได้แตกต่างกันในเรื่องใหญ่ จึงไม่ควรเรียกว่านิกาย เพราะคนมุสลิมมีความเชื่อเหมือนกันคือ เชื่อในพระเจ้า (อัลเลาะห์) อิสลามนั้นเป็นวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายมีคำสอนอยู่ในอัลกุรอ่านทั้งสิ้น การเดินเข้าห้องน้ำ แม้แต่การหลับนอนกับคู่ชีวิตก็ยังมีการพูดถึงเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันแกัน โดยอิสลามถือว่า ศาสดามูฮัมหมัดเป็นศาสดาท่านสุดท้าย (The Last Prophet) หมายความว่าไม่มีศาสดาอีกไปแล้ว จะมีก็แต่ผู้ที่ขึ้นมาทำหน้าที่ประมุข ในภาษาอาหรับเรียกว่า “คอลีฟะฮ์” คนที่ขึ้นมาแทนในสายซุนหนี่ เชื่อว่า ผู้ที่ขึ้นมาแทนศาสดาในฐานะผู้สืบทอดนั้นจะต้องเป็นผู้ใกล้ชิด หรือจากเผ่าพันธุ์ของท่าน จะจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งก็ได้ ขณะที่ อีกสำนักคิดคือ “สำนักคิดชิอะห์” มีความคิดว่า หลังจากศาสดาจากไปแล้วคนที่มาแทนต้องเป็นคนในครอบครัวท่านเท่านั้น (The Household of the Prophet) ความแตกต่างของ 2 สำนักนี้เกิดขึ้นหลังจากท่านศาสดาจากไปแล้ว และค่อนข้างเป็นความมุ่งหวังทางการเมือง อ. จรัลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้มีชาวซุนหนี่อยู่ในโลกมุสลิมราว ร้อยละ 80 – 85 ส่วนชิอะห์ ทั้งโลกมีประมาณ 140 ล้านคน ในประเทศไทยก็ยังมีมุสลิมชิอะห์อยู่ประมาณ ร้อยละ 1 แม้แต่ประเทศที่มีซุนหนี่มากที่สุดอย่างซาอุดิอารเบีย ก็ยังมีชิอะห์อยู่ประมาณ 5 แสนคน ชิอะห์มีมากในอิรัก ร้อยละ 60 และในอิหร่านมากกว่าร้อยละ 90หลังจากการปฏิวัติอิสลาม ของอิหม่ามโคไมนี ได้นำความเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้ามาให้มุสลิม ชาวซุนหนี่บางคนเปลี่ยนไปเป็นชิอะห์ แต่แทบไม่เคยเห็นชิอะห์เปลี่ยนไปเป็นซุนหนี่เลย ซึ่งบางครั้งสองสำนักคิดก็ขัดแย้งกัน บางคนก็เอามาเป็นข้ออ้างในเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเช่น สงครามในเยเมนปัจจุบันระหว่างอิทธิพลของอิหร่าน กับอิทธิพลของซาอุดิอารเบีย เป็นต้น สำหรับสำนักคิดซุนหนี่สามารถแบ่งแยกย่อยไปตามความคิดของโต๊ะครู เช่นชาฟีอี ที่มีมากในอาเซียน ฮานาฟีย์ในเอเชียใต้ ในอาเซียนอิสลามเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในหลายประเทศเช่นอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ส่วนในไทย เมียนมา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และลาว มีชาวมุสลิมนับถือศานาอิสลามอยู่เป็นคนส่วนน้อย ใน “อินโดนีเซีย” เป็นประเทศมุสลิมใหญ่ที่สุด มีประมาณ 224 ล้านคน หรือร้อยละ 88 ของจำนวนประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเน้นเอกภาพบนความหลากหลาย โดยใช้หลัก 5 ประการ ไม่ได้ระบุทางการว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แยกเรื่องศาสนาออกจากการเมือง การขยายตัวของอิสลามในอาเซียน จะเห็นได้ว่าขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่การเข้ามาในศตวรรษที่ 9 ขยายตัวศตวรรษที่ 12 บรรพบุรุษของอิสลามในอาเซียนเป็นชาวพุทธ และฮินดู เพราะบริเวณมาเลเซียก่อนหน้านี้ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูที่เรียกว่าดินแดนมัชปาหิต การเข้ามาของศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้ น่าสนใจมากคือการผ่านเข้ามาโดยไม่มีการหลั่งเลือด โดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ผ่านมาโดยพ่อค้าที่มาจากอินเดีย เปอร์เซีย จากโลกอาหรับ มาแต่งงานกับธิดาเจ้าผู้ครองนคร และค่อยเป็นเจ้าผู้ครองนครมาเป็นอิสลาม อิสลามในอินโดนีเซียจะแตกต่างจากอิสลามในตะวันออกกลาง และที่อื่นๆ เพราะต้องมีการประนีประนอมเนื่องจากเคยเป็นพื้นที่พุทธ และฮินดูมีอิทธิพลอยู่ ไม่ให้เปลี่ยนผ่านโดยความรุนแรง อินโดนีเซียแทบจะเป็นประเทศมุสลิมเดียวที่คนต่างศาสนาแต่งงานกันโดยไม่เปลี่ยนศาสนา รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนา เช่นอิสลามไม่เชื่อเรื่องไสยาศาสตร์ แต่ในอินโดนีเซียยังสามารถเห็นการปฏิบัติตามแนวดั้งเดิมอย่างการเชือดไก่บูชาในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ เรียกว่าเปิดกว้าง และเข้าใจพื้นฐานของศาสนาอื่นที่อยู่ร่วม ใน “มาเลเซีย” อิสลามเป็นศาสนาของสหพันธรัฐ แต่ศาสนาอื่นก็ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติด้วยความสงบ และปรองดอง เกือบร้อยละ 60 ของประชากรมาเลเซียเป็นชาวมุสลิม ที่เหลือนับถือศาสนาพุทธ ฮินดู คริสต์ และซิกข์ มาเลเซียมีความหลากหลายมาก โดยจะเห็นได่จากผู้นำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แทบจะหาผู้นำที่เรียกว่าเป็นมาเลเซียแท้ๆ แทบจะหายาก เช่นนายกรัฐมนตรีตวนกู อับดุล เราะห์มาน เคยศึกษาที่ประเทศไทย มีแม่เป็นคนไทย ดาโต๊ะ ฮุสเซน อน นายกรัฐมนตรีคนที่สามเป็นคนเชื้อสายตุรกี นายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นคนเชื้อสายปากีสถาน มาเลเซียเน้นการศึกษามาก กระทรวงอันดังต้นๆ คือกระทรวงศึกษาธิการ นายกรัฐมนตรีทุกคนเคยผ่านการเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการมาก่อน นักศึกษาที่เรียนดีจะได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาล ทำให้เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองจึงไม่ค่อยมีนักศึกษาออกมาเดินขบวนเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากว่าคนที่ได้ทุนไม่ค่อยกล้าขัดรัฐบาล ประชาชนในท้องถิ่นแต่เดิมนับถือศาสนาอื่นๆ นับถือไสยาศาสตร์ก็มี แต่เห็นว่าอิสลามสามารถทำให้ออกจากพันธนาการ อิสลามสามารถต่อสู้กับความชั่วร้ายทางสังคมได้ และเชื่อว่าจะทำให้คนตัวเล็กๆ ทำให้เป็นคนมีเกียรติได้ นอกจากนี้มาเลเซียเองก็มีพรรคการเมืองที่เป็นอิสลามอยู่ด้วย คือพรรคแพนอิสลาม (Pan Malaysian Islam Party) เป็นพรรคที่มีคนถือ 2 สัญชาติโหวตให้มากที่สุด ปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็มีอิทธิพลมาก สำหรับชาวมุสลิมในมาเลเซียนั้นส่วนมากปฏิบัติตามซุนหนี่ชาฟีอี แต่ก็มีชาวมุสลิมในมาเลเซียไม่น้อยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสำนักคิดใดๆ คือเชื่อในคำสอนของศาสดามูฮัมหมัด สำหรับอิสลามใน “บรูไน” รัฐสุลต่าน ที่มีชื่อเต็มว่าบรูไนดารุสซามลาม แปลว่าเคหาสน์สถานแห่งความสงบ มีประชากรเพียงประมาณ 5 แสนคน 2 ใน 3 เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ คนส่วนใหญ่ปฏิบัติตามซุนหนี่ ปฏิบัติตามสำนักคิดชาฟีอีบรูไนถือเป็นประเทศที่เคร่งครัด และใช้หลักการอิสลามอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นประเทศที่สงบมาก ผู้ปกครองพยายามกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกัน แม้ว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ศาสนาอื่นๆ ก็สามารถรักษาค่านิยมทางศาสนา และประเพณีเอาไว้ได้ ใน “สิงคโปร์”เองก็มีชาวมุสลิมอยู่ประมาณร้อยละ 14 เป็นซุนหนี่ซาฟีอิเช่นกัน โดยประวัติศาสตร์สิงคโปร์เกี่ยวโยงกับคาบสมุทรมาลายา อิสลามส่วนใหญ่ในสิงคโปร์เป็นเสรีนิยม เนื่องจากมีความหลากหลาย สิงคโปร์พยายามให้เป็นพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้ ชาวมุสลิม ร้อยละ 99 ในสิงคโปร์จะบริจาคเงินให้กับองค์กรอิสลามเพื่อนำเงินนี้ไปพัฒนาสังคมมุสลิม ส่วนอิสลามใน “ฟิลิปปินส์” ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นั้น ศาสนาอิสลามเข้ามาถึงในศตวรรษที่ 14 พร้อมกับการเข้ามาของพ่อค้ามุสลิมจากอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งจากอินเดียทางใต้ และรัฐบาลจากรัฐสุลต่านทางใต้ ที่นี่มีชาวมุสลิมอยู่ประมาณร้อยละ 5 – 9 เป็นซุนหนี่ ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่อยู่แถวซูลู และมินดาเนา การขยายตัวอิสลามในฟิลิปปินส์นั้น หลังจากสมาชิกตระกูลผู้ครองสุมาตรา และยะโฮร์เข้ามาถึง ก็ได้มีการแต่งงานระหว่างกันเพื่อเป็นตัวเชื่อมทางการเมือง มาถึงอาเซียนผืนแผ่นดินกันบ้าง ประกอบไปด้วยเมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ต้องถือว่าชาวมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย ใน “ประเทศไทย” คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมมักจะอยู่ในภาคใต้ตอนล่าง สังคมไทยซึ่งเป็นพหุทางศาสนา มีจำนวนประชากรมุสลิมประมาณ 7.5 ล้านคน อิสลามในไทยมาจากหลายที่ ไม่ว่าจากคาบสมุทรมาเลเย์ จากอินโดนีเซีย จากเยเมน เปอร์เชีย เมียนมา จีน และกัมพูชา การก่อตัวของอิสลามในมาละกา นำไปสู่การขยายตัวของอิสลามที่ผสมผสานกันมาถึงปัตตานี ขยายไปถึงสงขลา แต่ก็ผสมผสานทางสังคมเข้ากับคนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี ใน “เมียนมา” เป็นสังคมพุทธอย่างเคร่งครัด ชาวมุสลิมในเมียนมามีพื้นที่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโรฮิงญาที่เป็นเชื้อชาติมุสลิมที่เมียนมาไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่จำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ในอดีตชาวโรฮิงญาช่วยอังกฤษในการรบกับพม่า (ตอนนั้น) ปัจจุบันชาวโรฮิงญาน่าเห็นใจมาก เป็นเหมือนคนไม่มีที่มาที่ไป ไม่ได้ถูกรับรองการมีอยู่ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่อยู่มาก่อนในบริเวณที่เป็นรัฐอาระกัน จะเห็นได้ว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ความหลากหลายมาก ศาสนาก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่เพียงแค่อิสลาม แต่ไม่ว่าจะศาสนาใด หากเข้าใจความเป็นเขา เป็นเราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้