ณ แปลงผักพอเพียง อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี นายธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารงานกลาง ประธานเครือข่ายโครงการแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นัดหมายสมาชิกแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข พร้อมใจกันเก็บเกี่ยวถั่วลิสงที่ร่วมกันปลูกไว้ซึ่งมีอายุครบสามเดือน เพื่อนำมาต้มให้สุกและนำไปแบ่งปัน อันเป็นกิจกรรมดีๆ ที่หมุนเวียนกันปลูกพืชผักต่างมาเข้าสู่ปีที่ 8 นายธัญญากล่าวว่า โครงการแปลงผักพอเพียงเป็นหนึ่งในโครงการที่เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรของสำนักงานอธิการบดี กิจการกิจกรรมหลักคือ จะช่วยกันเพาะพันธุ์ผักจากเมล็ดพันธุ์ผักปลูกผักในแปลงผักของเรา เรียกว่าแปลงผักพอเพียงของสำนักงานอธิการบดี สมาชิกประกอบด้วย บุคลากรสังกัดสำนักงานอธิการบดีจากหลายหน่วยงานมาร่วมกันเป็นเครือข่ายฯ ในปีหนึ่งๆ จะปลูกพืชผักอยู่ 3ครั้ง โดยปลูกผักหน้าหนาว สลับกับปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปลูกถั่วลิสง อย่างเช่นวันนี้ที่เรามาเก็บกัน จากนั้นจะหมุนเวียนไปปลูกผักสวนครัว พอถึงฤดูหนาวจะปลูกผักทั่ว ๆ ไป “แปลงผักนี้เป็นเหมือนตู้เย็นใบใหญ่ของชาวสำนักงานอธิการบดี เช้ามาก็มาเก็บผักไว้รับประทานในตอนกลางวันได้ ตอนเย็นเลิกงานก็มาเก็บผักกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดยร่วมกันปลูก ช่วยกันเก็บ ช่วยกันดูแลรักษา และแบ่งปันในที่ทำงาน รวมไปถึงแบ่งปันไปยังครอบครัวด้วย สำหรับกิจกรรมในวันนี้ถั่วลิสงที่ปลูกเป็นพันธุ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถั่วลิสงชุดนี้สมาชิกได้ร่วมกันปลูกเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เป็นพืชที่ดูแลง่ายแค่ปลูกไว้แล้วรดน้ำปล่อยให้โตก็ได้ผลผลิตแล้ว วันนี้ได้เชิญชวนสมาชิกแปลงผักมาช่วยกันเก็บ ช่วยกันเด็ด ล้าง แกะ แล้วต้ม และไปแจกให้กับสมาชิกที่มาช่วยกันเก็บ และสมาชิกที่ติดงานมาช่วยเก็บไม่ได้ โดยจะมีสมาชิกนำไปแจกให้ทุกหน่วยงาน เรียกว่าเป็นแปลงผักที่ซ่อนกุศโลบายลึกซึ้ง “เมื่อมาย้อนถามว่า แปลงผักปลอดภัยให้อะไรกับเรา เมื่อกลับมาคิดก็พบว่าเมล็ดผัก หรือถั่วเมล็ดเล็ก ๆ เพียงเม็ดเดียวมันเชื่อมประสานความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในสำนักงานอธิการบดี แม้จะต่างหน่วยงาน แต่ก็สามารถเข้ามามีความสุขร่วมกันได้ นับว่าเป็นความสุขอยู่ในที่ทำงาน ถ้าหากมีกิจกรรมที่เราได้ลุกมาจากโต๊ะทำงานมาสร้างสรรค์งานที่สร้างรอยยิ้มร่วมกันได้ ถือเป็นการปลูกฝังส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของอธิการบดี โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบดีที่ได้ถ่ายทอดลงมาสู่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี” หากจะกล่าวถึงการร่วมมือกันระหว่างสมาชิกแปลงผักพอเพียงจะเกี่ยวโยงไปยังยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ก็จะแฝงในเรื่องของ people เป็นการให้ความสำคัญของการอยู่อย่างมีความสุขในที่ทำงาน เป็น Happy workplace ด้วยส่วนหนึ่ง เรื่อง Ecological ในการปลูกจิตสำนึกให้บุคลากรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เอื้อต่อความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยสีเขียว ช่วยกันปลูกช่วยกันสร้าง และยังเชื่อมโยงไปยัง Spiritual ในการสร้างให้เกิดพลังทีม เกิดจิตวิญญาณในลักษณะสมานฉันท์ทำงานเป็นทีมร่วมกัน มันจะแทรกซึมได้ในทุกยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกิจกรรมปลูกผักเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่หากพื้นฐานของบุคลากรสายสนับสนุนมีความเข้มแข็ง ร่วมไม้ร่วมมือกันในทุก ๆ กิจกรรม มันจะส่งผลไปยังกิจกรรมใหญ่ ๆ ที่เราสามารถสร้างสรรค์ร่วมกันทำต่อไปได้ ธัญญากล่าวทิ้งท้าย