กระทรวงเกษตรฯ จับมือ แคนาดา ร่วมยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมขยายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรระหว่างสองประเทศ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือด้านการเกษตรร่วมกับ นางโดนิกา พอตตี (Ms.Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย โดยทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแคนาดา ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้การดำเนินความร่วมมือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นควรให้ขยายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกันในสาขาวิชาอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการเกษตร รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันต่อไป โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง การชลประทาน และการพัฒนาองค์กรเกษตรกร ที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับแคนาดาได้ สำหรับประเด็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสนใจและนำมาหารือกับแคนาดามี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การขยายสินค้าเกษตรโดยการยกระดับความเท่าเทียมในการเป็นคู่ค้าระหว่างทั้งสองประเทศ 2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร เช่น รูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้มีคุณภาพ โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำลง และ 3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ และประมง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่อยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งทางแคนาดามีความยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ แคนาดายังมีความประสงค์ที่จะส่งออกเนื้อสุกรและเครื่องในสุกรมายังประเทศไทย ในกรณีที่แคนาดาสามารถพิสูจน์ได้ว่า เนื้อสุกรของแคนาดาปลอดสารเร่งเนื้อแดง โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อกำหนดขั้นตอนการนำเข้าสินค้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์สัตว์จากต่างประเทศเข้ามายังไทย ขณะที่ด้านการค้าระหว่างไทยและแคนาดานั้น แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 19 ของไทย ในระหว่างปี 2556 - 2558 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 1.66 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก (เฉลี่ยประมาณปีละ 23,555 ล้านบาท) ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับแคนาดามาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรส่งออกไปแคนาดาที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปลาทูน่าปรุงแต่ง 2.ข้าว 3.กุ้งแช่เย็น แช่แข็ง 4.กุ้งปรุงแต่งไม่บรรจุกระป๋อง และ 5.เนื้อไก่ปรุงแต่ง ส่วนสินค้าเกษตรนำเข้าจากแคนาดาที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ข้าวสาลีและเมสลินสำหรับบริโภค 2.ถั่วเหลืองใช้สำหรับบริโภค 3.กากน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และกากแข็งอื่นๆ ที่ได้จากน้ำมันของเมล็ดเรปหรือโคลซา 4.กุ้งน้ำเย็นรมควัน และ 5.ปูแช่แข็ง