โลกทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกด้าน รวมทั้งด้านการเกษตรในบ้านเราที่กำลังพยายามเดินหน้าพัฒนาให้เป็นเกษตรยุคใหม่ ตอบโจทย์นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 หนึ่งในนั้น มีความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยขอนแก่น... ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ม.ขอนแก่นให้ความสำคัญกับ smart digital transformation จึงร่วมกับ ซีพีเอฟ จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด โดยมีการส่งมอบระบบIoTหรือระบบ Internet of Things เมื่อเร็วๆนี้ การร่วมมือครั้งนี้เป็นการนำเทคโนโลยี IoTที่แม่นยำ สามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา ช่วยให้วางแผนการผลิต ลดความเสี่ยงและเพิ่มคุณภาพให้กับการผลิตมาใช้บริหารจัดการโรงเรือนไก่ไข่ ถือเป็นการยกระดับโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่เดิม โดยผสานเทคโนโลยี IoT, Big Data, Image Processing เข้ามาประยุกต์ใช้ ในการเลี้ยงและบริหารจัดการโรงเรือน ควบคุมการผลิตได้แบบ real time โดยไม่ใช้คน และยังสามารถแจ้งสถานะระบบสิ่งแวดล้อมของโรงเรือนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม แสงสว่าง ระบบอาหาร น้ำและไฟฟ้า ทำให้แสดงต้นทุนกำไรของไข่เบื้องต้นได้ทันที ศ.ดร.มนต์ชัยกล่าวว่า สิ่งที่กำลังทำนี้ตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 รวมทั้งนโยบายเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังสนองยุทธศาสตร์ม.ขอนแก่น การสร้างโรงเรือนไก่ไข่อัจฉริยะถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอุทยานการเรียนรู้การเกษตรที่ได้วางไว้ ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เกษตรพึ่งพา โรงเรือนอัตโนมัติ ระบบการจัดการทางธุรกิจ ของการปลูกพืชและระบบปศุสัตว์ โดยถือเป็นโรงเรือนที่ทันสมัยอันดับต้น ๆ ของระดับสถาบันการศึกษา ที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ นายเรวัติ หทัยสัตยพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนผลิตไข่ ถือเป็นโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ที่ทันสมัยอันดับต้นๆ ของระดับสถาบันการศึกษาประเทศไทย ตลอดจนเป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกฝนการใช้เทคโนโลยี 4.0ให้กับบุคลากรทั้งภายในภายนอกที่สนใจ สำหรับโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบนี้ ประกอบด้วย โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ1หลัง ความจุไก่ไข่ยืนกรง 20,016 ตัว ตู้ฟักไข่ 3 ตู้ ความสามารถฟักไข่ 15,000 ฟอง และตู้เกิด 1 ตู้ ความจุไข่ฟัก 5,000 ฟอง สามารถผลิตไข่ไก่คุณภาพดีส่งให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์และร้านค้าภายในม.ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติและสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และบุคลากร อีกทั้งคณะเกษตรศาสตร์ยังได้ทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพจากมูลไก่ ผลิตเป็นCBGสำหรับใช้เติมพาหนะของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันกากมูลที่เหลือจากการหมักแก๊ส ยังนำมาเป็นปุ๋ยมูลไก่จำหน่ายเป็นรายได้ให้กับโครงการอีกทางหนึ่งด้วย