สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
“วัดหนองมน” นั้น เป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่กลางทุ่ง ในตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี อีกทั้งไม่มีความสำคัญใดๆ เลยทางด้านประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี แต่สิ่งที่กลายเป็นที่รู้จักและกล่าวขานกันมาตั้งแต่อดีตก็คือ ”พระรอดวัดหนองมน” หรือที่เรียกกันว่า “พระรอดหนองมน” ด้วยปรากฏพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้บูชาว่า เป็นเลิศยิ่งนักในด้านนิรันตราย ทั้งคุ้มครองป้องกันและแคล้วคลาด จนเป็นที่กล่าวกันว่า แขวนท่านไว้ไม่มีทางตายโหงแน่นอน” “
ตามประวัติขององค์พระเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว “พระรอดหนองมน” ไม่ได้สร้างที่วัดหนองมน จ.ลพบุรี เลยทีเดียว แต่เป็นพระพิมพ์ที่พระครูเมธีธรรมารมณ์ หรือ หลวงพ่อเมือง พระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดหนองมนขึ้นมา ได้นำติดตัวมาจากกรุทางเมืองเหนือ สันนิษฐานกันว่าเป็นเกาะที่อยู่กลางเมืองพิจิตร ท่านเห็นว่ามีจำนวนมากจึงขอมาเพื่อแจกจ่ายแก่พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาร่วมสร้างพระอุโบสถวัดหนองมนเป็นที่ระลึก ส่วนองค์พระที่เหลือได้ก่อ “พระเจดีย์” ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถบรรจุไว้ ลักษณะองค์พระรวมทั้งพุทธคุณเฉกเช่นพระสกุลลำพูน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “พระรอดวัดหนองมน”
ต่อมาได้มีการเปิดกรุพระเจดีย์เพื่อนำพระรอดหนองมนออกมาแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมบุญร่วมกุศลกับทางวัดหนองมนอีกหลายครั้งหลายคราว จนพระหมดกรุไม่เหลือแม้สักองค์เดียว ต่อมาปรากฏพุทธคุณจนเป็นที่เลื่องลือ ซึ่ง ณ เวลานั้น พระก็ได้หมดเสียแล้ว
เนื้อหามวลสาร
พระรอดหนองมน จะมีเพียงเนื้อตะกั่วสนิมแดง เพียงเนื้อเดียวเท่านั้น
พุทธลักษณะ
พุทธลักษณะพิมพ์ทรงเป็นรูปสามเหลี่ยมชะลูดมุมมน แต่การสร้างไม่ค่อยประณีตนัก ทำให้มีเนื้อส่วนเกินยื่นออกมาอย่างไม่สม่ำเสมอเหมือนกันทุกองค์ องค์พระกะทัดรัดพองาม ความกว้างประมาณ 1.2 ซม. และสูงประมาณ 2.2 ซม. พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานหมอนชั้นเดียวค่อนข้างหนา กรอบโดยรอบเป็นร่องคล้ายเส้นซุ้ม แต่ไม่เด่นชัดนัก ลักษณะการสร้างแบบง่ายๆ ไม่มีลวดลายหรือรายละเอียดอื่นประกอบ พิมพ์ด้านหลังส่วนใหญ่จะเรียบตัน มีบ้างบางองค์ที่เป็นแอ่งเว้า แต่จำนวนน้อยมาก สามารถแบ่งแยกพิมพ์ได้เป็น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางหรือพิมพ์ต้อ และ พิมพ์เล็ก
พุทธคุณ
มีพุทธคุณโดดเด่นในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เช่นเดียวกับพระสกุลลำพูน
การพิจารณา
ด้วยความที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ “พระรอดหนองมน” มีสนนราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพระพิมพ์ในรุ่นเดียวกัน การทำเทียมเลียนแบบจึงมีสูง เช่นกัน ต้องพิจารณาให้ดี พระที่มีอายุเก่าแก่นับ 100 ปีนั้น นอกจากการพิจารณาพิมพ์ทรงแล้ว ต้องพิจารณาถึง “ความเก่าของเนื้อขององค์พระ” นั่นคือ คราบสนิมแดงและสนิมไข หรือบางองค์อาจมีพรายปรอท อันเกิดจากเนื้อขององค์พระที่สร้างโดยตะกั่วเกิดปฏิกิริยากับอากาศโดยรอบในกรุ ซึ่งนับเป็นหลักการพิจารณาพระแท้-พระเก๊ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเนื้อขององค์พระและพิมพ์ทรงนั้นปลอมแปลงกันได้ง่ายแต่ความเก่าไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ครับผม