ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : สถาปนิกที่กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าทดลอง ผลงานออกแบบโดดเด่นสร้างชื่อเสียงทั่วโลก ช่วงนี้มีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปินศิลปาธร ประจำปี2562 ในที่นี้พาไปรู้จักผลงานสาขาสถาปัตยกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา จากข้อมูลศิลปินศิลปาธร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นสถาปนิกที่กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าทดลอง ผลงานออกแบบโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ จับต้องได้ แตกต่างสร้างความแปลกใหม่ สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเน้นในภูมิภาคและเกี่ยวข้องกับชุมชน สร้างแรงบันดาลใจให้สถาปนิกรุ่นหลัง มีแนวคิดมุ่งมั่นในการออกแบบเพื่อสังคม social design ผู้ก่อตั้ง Bangkok ProJect Studio ผลงานโดดเด่น เป็นสถาปนิกไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับโลกในวงการสถาปัตยกรรมมากมาย ปี 2011 เป็นผู้ชนะเลิศ (The Winner) จากผลงาน “อาคารสถาบันกันตนา” “Kantana Institute” ในการประกวด The ar+d Awards for Emerging Architecture 2011 สหราชอาณาจักร เป็นผลงานการออกแบบสมัยใหม่ที่สัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม ลงตัวกับฟังก์ชันการใช้งาน สถาปนิกให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของวัสดุ สถานที่ และผู้คน อิฐกว่าครึ่งล้านก้อนซึ่งนำมาใช้ในผลงาน ผลงานชิ้นใหญ่ของเขาช่วยสืบสานงานให้เหล่าช่างฝีมือในโรงงานอิฐ ชุบภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหายไปกับโรงงานให้กลับมาแข็งขัน และ Wienerberger ผู้ผลิตอิฐที่เก่าแก่ที่สุดและรายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งกรุงเวียนนาได้มอบรางวัลสูงสุด Grand Prize and Category Winner “Special Solution” ให้แก่สถาบันกันตนา หลังจากได้รางวัลดังกล่าว ชาวบ้านผู้มีส่วนร่วมในการสร้างและคิดที่จะเลิกกิจการทำอิฐไปแล้วกลับมีช่องทางสร้างรายได้มากขึ้น ช่วยต่ออายุให้งานช่างอิฐของไทยยังคงดำรงอยู่ต่อไป ปี 2017 ได้รับรางวัลชนะเลิศสูงสุด Overall Winner และ The Winner Hospitality Category จาก THE PLAN AWARD 2017 อิตาลี งานออกแบบที่ตอกย้ำแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและงานสถาปัตยกรรม จากผลงานการออกแบบ The Wine Ayutthaya สถาปัตยกรรมยุคใหม่บนผืนแผ่นดินประวัติศาสตร์ไทย ได้รับรางวัล Asia-Pacific Acknowledgement Prize at the fifth LafargeHolcim Awards Asia-Pacific 2017 มาเลเซีย เป็นรางวัลสำหรับสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน มีชิ้นงานถูกส่งเข้าประกวด 5,085 ชิ้นงาน จาก 131 ประเทศทั่วโลก จากผลงานออกแบบโครงการบ้านฉางทาวน์ฮอล ภายใต้แนวคิดความเชื่อที่ว่าสถาปัตยกรรมสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนได้ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการพัฒนาพื้นที่นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2019 ได้รับรางวัล “Royal Academy Dorfman Award 2019” แห่งสหราชอาณาจักร ที่มอบให้กับสถาปนิกหรือกลุ่มคนที่สร้างภาพใหม่แห่งอนาคตทางสถาปัตยกรรม และมีผลงานการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทท้องถิ่น รวมถึงมีความเป็นสากล จากผลงานการออกแบบ โลกของช้าง Elephant World (2015) จังหวัดสุรินทร์ การออกแบบที่สื่อสารให้เห็นวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคนกับช้างในจังหวัดสุรินทร์ ชมผลงานผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา ศิลปินศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ประจำปี 2562 และผลงานศิลปินท่านอื่นๆ จัดแสดงถึง 31 ส.ค. นี้ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน