เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 62 ​ที่สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารส่วนท้องถิ่น(ก.ถ.) สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายธีรเดช นรัตถรักษา ประธานชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือ ก.ถ. ได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (นายพงศ์โพยม วาศภูติ) โดยมี นางสาวคณาธิป สุขเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคล สำนักงาน ก.ถ. พร้อมคณะ เป็นผู้รับเรื่องแทน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น โดยประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (นายพงศ์โพยม วาศภูติ) ได้ลงนามในประกาศมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2562 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนพิเศษ 177 ง ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ต่อมาคณะกรรมการสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้พิจารณารายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวอย่างถ้วนถี่แล้ว จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ไม่เห็นด้วยกับประกาศและบัญชีเทียบระดับตำแหน่งเพื่อรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นแนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า มาตรฐานดังกล่าวส่อที่จะขัดกับหลักการในมาตรา 27 และมาตรา 251 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 อีกทั้งไม่เป็นไปตามหลักคุณธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า อีกทั้ง ประกาศฯฉบับนี้มีสภาพเป็นกฎที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการพลเรือนสายงานวิชาการในระดับชำนาญการ สามารถโอนย้ายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายซึ่งเป็นตำแหน่งสายงานอำนวยการท้องถิ่น ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบคัดเลือก ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในสายงานวิชาการในระดับชำนาญการเช่นเดียวกัน แต่ต้องอาศัยทั้งระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ระดับขั้นเงินเดือน ประสบการณ์ในตำแหน่ง และยังต้องสอบคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งอีกด้วย เป็นต้น ประกาศมาตรฐานดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการแบ่งชนชั้นวรรณะ ระหว่างข้าราชการพลเรือนกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตอกย้ำคำว่า “ข้าราชการชั้นสอง” อันสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของข้าราชการพลเรือนที่มองข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีศักดิ์และเกียรติที่ต่ำกว่าข้าราชการเรือน จึงเป็นการกดขี่ข่มกันในกระบวนการทางการบริหารงานบุคคลอย่างชัดเจน "ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย จึงได้รวบรวมรายชื่อตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น จำนวนหนึ่งเพียงเท่าที่ระยะเวลาจะเอื้ออำนวย ได้เสนอหนังสือต่อประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมาตรฐานกลางฉบับดังกล่าว โดยขอให้มีการขยายเวลาในการบังคับใช้บัญชีแนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาทบทวนโดยมีตัวแทนจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานบริหาร สายงานอำนวยการ และสายงานวิชาการ ไม่น้อยกว่ากึ่งขึ้นของคณะทำงานดังกล่าว ทั้งนี้สมาคมฯได้นำเรียนเรื่องการยื่นหนังสือต่อ นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมการ ก.ถ. และนายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ หัวหน้าสำนักงาน ก.ถ.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ก.ถ.ได้รับทราบแล้ว โดยทางนางสาวคณาธิปฯ ผู้รับเรื่องแทนได้แจ้งให้ทราบว่า จะสรุปเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ถ.ได้พิจารณาต่อไป" นายพิพัฒน์ กล่าว รายงานข่าวแจ้งว่า ต่อมานายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง พร้อมคณะได้เดินทางไปยังพรรคพลังท้องถิ่นไท ยื่่นหนังสือร้องขอต่อ นายชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท ให้ช่วยติดตามผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และผ่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อไป โดยหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท รับปากจะเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป พร้อมจะติดตามผลผ่านที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป +++++++++++++