แพทย์กระดูกและข้อเผยจากประสบการณ์ที่ผ่านผู้ป่วยมามากมาย ชี้ยังไม่เคยมีหลักฐานการแพทย์ยืนยันกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น เพราะแบกของหนัก ต้องแยกประเด็นกัน ระบุเคสที่เป็นข่าว ยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด จากกรณีแม่พาลูกสาวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลและผลการตรวจวินิจฉัยพบว่ากระดูกสันหลังคด พร้อมกับมีการหาสาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากการที่ต้องแบกกระเป๋านักเรียนหนักมากไปโรงเรียนทุกวัน กระทั่งข่าวนี้ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมแก้ปัญหาด้วยการให้ใช้นักเรียนใช้อีบุ๊กแทน จะได้ไม่ต้องแบกหนังสือจำนวนมากไปโรงเรียนนั้น เพจเฟซบุ๊ก “วิ่งดิหมอ” ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่ถึงกรณีกระดูกสันหลังคดที่เป็นข่าวในขณะนี้กำลังเข้าใจกันผิดๆ โดยระบุ “แม้จะไม่ใช่เรื่องวิ่ง ... แต่ในฐานะหมอกระดูกและข้อ ที่ทำงานในศูนย์ที่มีผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดจำนวนมากต่อปี ได้อ่านข่าวที่กำลังสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนขณะนี้ แล้วก็เกิดความไม่สบายใจ อยากให้เกิดการแก้ไขความเข้าใจผิดต่อโรคที่เกิดขึ้น (แรกก็ว่าจะไม่เขียน แต่เวลานี้กลายเป็นไฟลามทุ่ง ประเภทเพจต่างๆ นักข่าว เอาไปลงกันอึกทึกครึกโครม) จึงขอนำเรียนมาให้ทุกท่านได้ศึกษา เกี่ยวกับความจริงของภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น ดังนี้ กระดูกสันหลังคด เกิดขึ้นได้หลายช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงวัยชรา ซึ่งมีปัจจัยการเกิดแตกต่างกัน และแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกันในหลายประเด็น กล่าวคือ --------------------------- กระดูกสันหลังคด แบ่งได้เป็นประเภท ดังนี้ 1)โรคกระดูกสันหลังคดตั้งแต่แรกเกิด (Congenital Scoliosis) เนื่องจากขณะแม่ตั้งครรภ์ตัวอ่อนในครรภ์มีกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ 2)โรคกระดูกสันหลังคดจากโรคทางระบบประสาทหรือระบบกล้ามเนื้อผิดปกติ (Neuromuscular Scoliosis) เช่น โรคกล้ามเนื้อโตมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อกระดูกสันหลังฝ่อลีบ เป็นต้น 3)โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ เพศหญิง อายุ และกรรมพันธุ์ แบ่งได้เป็น 3 ช่วงวัย (เกิดในช่วงวัยรุ่นมากสุด) 3.1โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในวัยทารก (Infantile Idiopathic Scoliosis) ก่อนอายุ 3 ปี 3.2โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในวัยเด็ก (Juvenile Idiopathic Scoliosis) อายุระหว่าง 4 – 10 ปี 3.3โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (Adolescent Idiopathic Scoliosis) อายุระหว่าง 10 – 18 ปี พบมากที่สุด 4) โรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อม (Degenerative Lumbar Scoliosis) มักพบในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ จากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อกระดูกที่เปราะบาง คุณภาพเสื่อมลง ร่วมกับการผ่านการใช้งานมาเป็นเวลายาวนาน (กรณีนี้จะไม่ได้เกิดการคดมาก่อนในวัยเด็ก) อันนำมาซึ่งอาการที่เราเรียกๆกันว่า กระดูกทับเส้น แต่ละชนิดจะมีวิธีแยกทางการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก (ไม่ขอลงรายละเอียด ณ ที่นี้) -------------------------------- ซึ่งกรณีของเด็กหญิงในข่าว มีความเข้าได้กับภาวะ Adolescent Idiopathic Scoliosis มากที่สุด ... นั่นคือ ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด -------------------------------- เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับกระดูกสันหลังคด ในทางการแพทย์มีการทำการศึกษาไว้มานานนับร้อยปีแล้ว และไม่เคยมีเอกสารทางการแพทย์ หรืองานวิจัยใดที่ยืนยันการเกี่ยวข้อง การเกิดกระดูกสันหลังคดในวัยเด็ก และวัยรุ่น ว่าเกิดจากการยกของหนัก (หากต้องการที่มา แหล่งอ้างอิงมีมากมาย ทั้ง textbook ทางการแพทย์ งานวิจัย บทความ) --------------------------------- อยากให้ทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่าน พิจารณา คิดวิเคราะห์ และจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้นำความรู้นี้ บอกต่อในวงกว้างต่อไป เพื่อลดปัญหาความเข้าใจผิด ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ และคงเป็นการดี หากเพจ หรือสื่อใด ที่ลงเนื้อหาสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ได้ลองทำการศึกษาใหม่ และแก้ไขด้วย จะเป็นการดีอย่างมาก (เพราะเพจเล็กๆ นี้ ก็อาจไม่สามารถส่งผลต่อภาวะตื่นตระหนกของคนไทยที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ได้ดีที่สุด) . ขอบคุณทุกท่าน มา ณ ที่นี้ค่ะ ปล. การแบกหนัก เป็นสาเหตุของการเกิดอักเสบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และความเสื่อมชนิดอื่นได้ (เพียงแต่ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดกระดูกสันหลังคดในเด็ก ควรแยกประเด็นกันค่ะ) ... ฉะนั้นก็ยังควรเลี่ยงการแบกหนักเกินไป ... แต่ขณะเดียวกัน ก็มิใช่โทษว่ากระดูกหลังคดในเด็ก เกิดจากการแบกหนัก? --------------------------------- ด้วยรัก #วิ่งดิหมอ / #หมอกระดูกและข้อคนหนึ่ง #orthopedics #orthopedist"