กรมศิลป์เข้ม3โซนก่อสร้างอาคารใหม่เขตรอยต่อพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาสูงได้ไม่เกิน 8,12,15 เมตร วันนี้ (30 ก.ค. 62) นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก สมัยประชุมครั้งที่ 43 ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้แสดงความชื่นชมและห่วงใยในความพยายามของประเทศไทยในการอนุรักษ์และการจัดการโดยเฉพาะการปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา(พ.ศ.2561-2570)นั้น กรมศิลปากรพร้อมรับข้อแนะนำถึงข้อกังวลมาดำเนินการ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตรอยต่อพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้สำนักศิลปากร ที่3 พระนครศรีอยุธยา ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงโซนการก่อสร้าง มีเกณฑ์ตามประกาศกรมศิลปากรกำหนดไว้โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน สูงได้ไม่เกิน 8 , 12 , 15 เมตร ขณะเดียวกันหากมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ให้มีการยื่นขออนุญาตผ่านสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งต่อมาที่อธิบดีกรมศิลปากรพิจารณา ให้สร้างได้ หรือไม่ได้ ส่วนกรณีการติดตามคำสั่งรื้อถอนอาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย นายอนันต์ กล่าวถึงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาว่า ได้มีการนำเสนอต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อขอความเห็นชอบแล้ว โดยมีแผนงานย่อยทั้งเรื่องงานโบราณคดี การบูรณะ การใช้ที่ดิน รวมถึงเพิ่มเติมยุทธศาสตร์การป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่เกิดจากธรรมชาติในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอุทกภัย ใช้โมเดลแผนการดำเนินงานของวัดไชยวัฒนารามมาเป็นต้นแบบ ทั้งการสร้างสิ่งป้องกัน การสร้างพนังกั้นน้ำ การวางระบบการใช้เครื่องสูบน้ำ โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่สำรวจแต่ละแหล่งอย่างละเอียด เพื่อให้การดำเนินงานเหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ “เรื่องน้ำท่วมถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ในการดูแลโบราณสถานต้องบรรจุในแผนแม่บทการอนุรักษ์ฯ เพราะในช่วงปี 2554 เกิดน้ำท่วมโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์เกือบ 100% ดังนั้นศูนย์มรดกโลกยูเนสโกให้ความสำคัญเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรได้วางแผนงานร่วมกับจังหวัดในการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมเขตอุทยานประวัติศาสตร์ รวม 1,810 ไร่ พร้อมทั้งขยายไปยังจุดสำคัญ ทั้งป้อมเพชร พระราชวังจันทรเกษม อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั้นมีปัญหาค่อนข้างมาก จึงต้องวางแผนการทำงานให้ชัดเจน” นายอนันต์ อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว