กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน “ตามรอยพระบาท คู่พระบารมี สู่ต้นกำเนิดศิลปาชีพ” น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “รัชกาลที่9” พร้อมหนุนกลุ่มทอผ้าไหมตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปูพรมเส้นทางสายไหมไทยสู่ตลาดโลก นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมหม่อนไหมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จัดงาน “ตามรอยพระบาท คู่พระบารมี สู่ต้นกำเนิดศิลปาชีพ” ขึ้น ณ ศูนย์ศิลปาชีพวัดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยมีนางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็พระบรมราชินีนาถ พร้อมส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มทอผ้าไหมตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ให้นำความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมไปพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการสืบสาน ฟื้นฟู และอนุรักษ์อาชีพการทอผ้าให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยสืบไปด้วย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ศูนย์ศิลปาชีพวัดธาตุประสิทธิ์ เป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยเมื่อปี 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่จังหวัดนครพนม ระหว่างนั้นสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ และทรงสนพระราชหฤทัยเพราะมีความสวยงามแปลกตา ต่อมาปี 2515 ทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น (กฐินส่วนพระองค์) ที่วัดธาตุประสิทธิ์ ได้มีราษฎร 6 ราย ทูลเกล้าฯถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อทอดพระเนตรก็รู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก จึงได้เริ่มส่งเสริมการทอผ้าไหมในพื้นที่ จากนั้นมีการรวมกลุ่มกันเป็น “กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรก” ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และมีการขยายผลการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านหม่อนไหมครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกันการพัฒนาต่อยอดคุณภาพมาตรฐานการผลิตหม่อนไหมอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้เส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก “ปัจจุบันกรมหม่อนไหมได้เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์/โครงการศิลปาชีพฯ จำนวน 35 แห่ง เกษตรกร 8,962 ราย โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ได้เสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ การพัฒนาเส้นไหม การฟอกย้อมสี การทอผ้า การแปรรูปหม่อนและไหม รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐานแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังพัฒนาและปรับปรุงศูนย์ศิลปาชีพฯให้เป็นศูนย์เรียนรู้และจุดให้บริการด้านหม่อนไหมแก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วย” นางสุดารัตน์ กล่าว นางสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปี 2560 นี้ กรมหม่อนไหมได้มีแผนเร่งดำเนินโครงการส่งเสริมหมู่บ้านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยจะจัดฝึกอบรมหลักสูตรการส่งเสริมการฟอกย้อมสีเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ และจัดกิจกรรมอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในศูนย์ศิลปาชีพฯ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจให้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงด้านหม่อนไหม เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อันจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น