กรมควบคุมโรคเตือนอย่าประมาท! จากแผลเล็กๆ ไม่ดูแลให้ดี อาจลุกลามติดเชื้ออันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งภูมิต้านทานต่ำ เบาหวาน ไตวาย มะเร็งช่วงให้คีโม สูงวัย อ้วน กินยาชุด ดื่มเหล้าประจำเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง     นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสไซติส (Necrotizing  fasciitis) เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนใต้ผิวหนัง รวมถึงชั้นไขมันและอาจลึกถึงระดับชั้นผังพืด หรือกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากแผลเล็กๆ จึงไม่ได้สนใจทำความสะอาด มักพบในกลุ่มเกษตรกร ที่ทำไร่ทำนา ที่มีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือในน้ำได้ง่าย ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีระบบเฝ้าระวังที่จำเพาะต่อโรคเนื้อเน่า จึงมีข้อมูลเฉพาะจากรายงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ผิดปกติ (event based surveillance) ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับรายงานผู้ป่วยโดยเฉลี่ยปีละ 100-200 ราย อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบค้นไปยังฐานข้อมูล Health data center (HDC) ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดก.สาธารณสุข พบว่าในปีที่ผ่านมามีการลงรหัสโรควินิจฉัยโรคเนื้อเน่าทั่วประเทศประมาณ 19,000 ราย ซึ่งได้สั่งการให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และกองระบาดวิทยา ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงในระบบเฝ้าระวังโรค ต่อไป ส่วนกรณีสงสัยการระบาดที่จ.น่านนั้น ได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดูแลพื้นที่จ.น่าน ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เพื่อสอบสวนโรคและให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคนี้พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดส่วนใหญ่คือที่ขาและเท้า สาเหตุที่มักพบผู้ป่วยในกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากต้องเดินลุยน้ำ หญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้อักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงอาจติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวาย ช็อค อาจเสียชีวิตได้ ที่สำคัญหากมาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย สำหรับประชาชนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าประจำ เป็นต้น ต้องระวังอย่าให้มีแผล หลังลุยน้ำย่ำโคลน ให้ล้างทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากเกิดบาดแผล ล้างให้สะอาดแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลาม การป้องกันให้ระมัดระวังอย่าเกิดแผล โดยเฉพาะขาหรือเท้า หากมีแผลให้เลี่ยงลุยน้ำ ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ ใส่ยาฆ่าเชื้อ อย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าปวดแผล บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้มียารักษาให้หายได้ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422