"เราจะสืบสาน รักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม 2562
วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันอันนำมาซึ่งความปลื้มปีติ หัวใจเปี่ยมสุขของปวงชนชาวไทย ด้วยเป็นวันอันเป็นมหามงคลที่เวียนมาถึงอีกปีหนึ่งคือวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.อันนำมาซึ่งความปลื้มปีติชื่นชมโสมนัสหัวใจเปี่ยมล้นความสุขแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศและที่พำนักในนานาอารยประเทศ พระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ปวงชนชาวไทยต่างพากันปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”
พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเข้าสู่การศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 จนถึง พ.ศ. 2506 ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513 หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูลซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้ว ทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519
เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และ พ.ศ. 2533 ทรงศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ทรงพระเยาว์ พร้อมกับการศึกษาเพื่อสร้างประโยชน์แก่ราษฎร ทรงให้ความสำคัญต่อพระราชภารกิจความรับผิดชอบอย่างพระราชภาระด้านการศึกษา และทรงศึกษาเรียนรู้พระราชกรณียกิจหลากหลายด้านที่นำสู่การบรรเทาทุกข์บำรุงสุขประชาชนรวมถึงการได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอันเป็นการทรงศึกษาเรียนรู้พระราชกรณียกิจในล้นเกล้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษาและต่อยอดที่จะทรงก่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยอย่างต่อเนื่องและเมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญแทนพระองค์มากมาย อีกทั้งยังได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์โดยพระราชทานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสร้างประโยชน์แก่พสกนิกรนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของราษฎรเป็นกำลังแบ่งเบาพระราชภาระในสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีก่อความผาสุกสงบแก่ปวงประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระองค์ได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ทรงขอผ่อนผัน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน
กระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้จัดประชุมวาระพิเศษ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แจ้งหนังสือหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่ได้รับจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แก่ที่ประชุมเพื่อรับทราบ ก่อนอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมารเสด็จขึ้นทรงราชย์ และพระองค์ได้ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคม2559 จึงพระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ประมุขฝ่ายตุลาการ เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นสืบราชสมบัติ จากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า
“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”
ทั้งนี้ ในทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งยังสอดคล้องกับคตินิยมในนานาประเทศที่ราชอาณาจักรย่อมไม่ว่างเว้นขาดตอนจากการมีพระมหากษัตริย์ และโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" (อ่านว่า สม-เด็ด-พฺระ-จ้าว-หฺยู่-หัว-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน- บอ-ดิน-ทฺระ-เทบ-พะ-ยะ-วะ-ราง-กูน)
จนวันที่ 1 ม.ค. 2562 สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีใจความดังนี้
เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้นทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้
วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์และประเทศชาติตลอดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งในด้านการปกครองประเทศ การศึกษา การสาธารณสุข การอาชีพเกษตรกรรมทรงให้แก้ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยหลักคือแหล่งน้ำ การดูแลรักษาป่าไม้ ทรงให้มีการตั้งคลีนิคเกษตรทั่วประเทศดูแลเกษตรกร ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ขุดลอกคูคลอง ผ่านโครงการตามพระราชดำริจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ข้าราชบริพารในพระองค์ ข้าราชการ ทุกภาคส่วนประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความรวมใจสามัคคีเสียสละทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เฉพาะอย่างยิ่งทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความทุกข์ความเดือดร้อนเฉพาะหน้าอันเกิดจากภัยธรรมชาติเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้มีความเข้มแข็งลุกขึ้นสู้ต่อไป
ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2562 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ในฐานะพสกนิกรที่จงรักภักดีขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรง สถิตเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ทรงมีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน
ขอทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ