โรคตาแห้งกำลังเป็นภัยคุกคามคนไทย ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคตาแห้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคตาแห้งชนิดท่อน้ำมันที่เปลือกตาอุดตัน โดยเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยในปัจจุบันยังมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่มากนักที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลรักษาโรคดังกล่าว ศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงจัดงาน “วันรักษ์เปลือกตา LID DAY 2019” เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคสายตาผิดปกติ โดยในปีนี้เน้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาโรคตาแห้งชนิดท่อน้ำมันที่เปลือกตาอุดตัน (Meibomian Gland Dysfunction-MGD) ซึ่งพบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคตาแห้ง พร้อมกิจกรรมสาธิตการดูแลสุขภาพอนามัยของเปลือกตา ด้วยการนวดทำความสะอาดเปลือกตา Lid hygiene เพื่อป้องกันตาแห้งและเปลือกตาอักเสบ เพื่อให้ความรู้กับประชาชน ณ ศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือเลเซอร์ได้ในทันที เนื่องจากมีภาวะโรคตาแห้งจากความผิดปกติของน้ำตา (Dry Eye) ปกติแล้วน้ำตาจะมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นในสุดเป็นเมือกที่เคลือบลูกตา ชั้นกลางเป็นชั้นน้ำตา และชั้นบนสุดเป็นชั้นฟิล์มน้ำมันที่สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตา มีลักษณะเหมือนฟิล์มป้องกันไม่ให้น้ำและเมือกในตาระเหยออกไป เมื่อตรวจวิเคราะห์ลึกลงไปก็พบอีกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีภาวะตาแห้งจากความผิดปกติของต่อมผลิตน้ำมัน อันเกิดจากภาวะท่อน้ำมันที่เปลือกตาอุดตัน ผู้ที่เป็นโรคตาแห้งชนิดท่อน้ำมันที่เปลือกตาอุดตัน จะมีอาการระคายเคืองตา ซึ่งจากการอักเสบของเปลือกตาและตาแห้ง ไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการระคายเคืองตามาก แพ้แสง แสบตา น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตาและมีระดับความชัดของการมองเห็นลดลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อดวงตา โดยโรคตาแห้งชนิดท่อน้ำมันที่เปลือกตาอุดตัน อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำและดูแลปรนบัติดวงตาไม่เหมาะสม รวมถึงเปลือกตาอุดตันจากการแต่งหน้า, เกิตการติดเชื้อไร (demodex folliculum), หรือแม้กระทั่งเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเพศหญิง ยาแก้แพ้ ยาต้านเศร้า เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของการตรวจวินิจฉัย ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจที่สะดวกและแม่นยำ ช่วยให้คนไข้รู้สึกมั่นใจและประหยัดเวลา ได้แก่ เครื่องตรวจประเมินชั้นน้ำตาโดยละเอียด สามารถตรวจลักษณะการแตกตัวของชั้นน้ำตา (keratography) และความหนาของชั้นไขมันในน้ำตา (Lipiview) สามารถใช้ในการประเมินชนิดและความรุนแรงของโรคได้ และ เครื่องตรวจต่อมไขมันที่เปลือกตา (meibography) สามารถถ่ายภาพต่อมไขมันที่เปลือกตา ซึ่งอาจตรวจพบการฝ่อของต่อมไขมันในกรณีที่โรคเป็นมาก
แนวทางป้องกันและรักษาเบื้องต้น สามารถทำได้โดยนวดทำความสะอาดเปลือกตา ด้วยการประคบอุ่นบริเวณเปลือกตานาน 5-15 นาที แล้วนวดบริเวณขอบเปลือกตา หลังจากนั้นทำความสะอาดเปลือกตา ด้วยสบู่สำหรับเด็กอ่อนและเช็ดคราบสกปรกบริเวณของเปลือกตาบนและล่างออก ไปจนถึงการหยอดน้ำตาเทียม การใช้ยาลดการอักเสบ การใช้เครื่องนวดเปลือกตา และการฉายแสง IPL ซึ่งอยู่ที่การประเมินของจักษุแพทย์ผู้ทำการรักษา
บรรยากาศภายในงานนอกมีกิจกรรมสาธิตการดูแลสุขภาพอนามัยของเปลือกตา พร้อมการให้ความรู้ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ได้มอบ “เครื่องวัดชีวกลศาสตร์ของกระจกตา” เป็นเครื่องวัดและวิเคราะห์ความแข็งแรง ยืดหยุ่นของกระจกตา ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยโรคของกระจกตาได้ดียิ่งขึ้น เช่น โรคกระจกตาโก่ง โรคต้อหิน เป็นต้น และ อุรัสยา เสปอร์บันด์ นักแสดงหญิงชื่อดัง ได้มอบ “เครื่องวัดความดันตาอัตโนมัติ” เป็นเครื่องวัดความดันตาชนิดไม่สัมผัส สำหรับการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับความดันลูกตา เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป