คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
วันหนึ่ง ดูข่าวทางมือถือกรณีเณรน้อย อายุ 3 ขวบ สวดมนต์ได้โดยไม่เคยท่องไว้ก่อน เหตุเกิดที่วัดป่ามณีกาญจน์ (จำจังหวัดที่ตั้งวัดไม่ได้) ฟังคำบาลีตั้งแต่ นโม ตัสสะ ไปจนจบศีล 10 ข้อ ของสามเณร ก็รู้ว่า วัดป่ามณีกาญจน์ เป็นวัดฝ่ายธรรมยุต เพราะคำบาลีออกเสียง พ เป็น บ และ ท เป็น ค
โดยเฉพาะ คำว่า “เวรมะณี” (ท้ายศีลแต่ละข้อ) ฟังเณรน้อยออกเสียว่า “เวระมะนอย” (ความจริง ออกเสียง ณ (ในคำว่า ณี) เป็นเสียง ณ (เปล่งเสียงจากปุ่มเหงือก หรือ “พุทธชะ”ไม่ใช่เสียง น (อย่างในเสียงไทยทั่วไป)
ฟังเผินๆ เหมือน ณี เป็น นอย
แต่ความจริง พระอาจารย์ที่นำกล่าว ออกเสียง ณี (พุทธชะ)
โยมของวัดฝ่ายธรรมยุตเข้าใจดีว่า พระฝ่ายธรรมยุตออกเสียงบาลีอย่างนั้น แต่ก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เวลาออกเสียงขอศีล 5 ก็ออกเสียงเป็นปกติอย่างคนไทยทั่วไป
พระฝ่ายธรรมยุต ก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่
แต่ในพิธีบรรพชา (บวชเณร) และในพิธีอุปสมบท (บวชพระ) ท่านพิถีพิถันเป็นพิเศษในการออกเสียง
การสวดมนต์ของพระฝ่ายธรรมยุต ก็ออกเสียงบาลีแบบธรรมยุต เรียกว่า “สวดมคธ” ซึ่งต่างจาก “สวดสังโยค” แบบพระฝ่ายมหานิกาย
สวดสังโยค คือ สวดเชื่อมคำต่อเนื่องกันไป สวดมคธคือสวดจบเป็นคำๆ โดยเฉพาะเมื่อสวดคาถา จะสวดเว้นช่องตามลักษณของบทสวด (ซึ่งเป็นคำร้อยแก้วและคำจันท์บาลี)
พระฝ่ายมหานิกายไม่มีบทสวดมคธ เมื่อมีการสวดร่วมกัน (แม้จะมีพระฝ่ายมหานิกายเพียงรูปเดียว) พระฝ่ายธรรมยุต ก็จะต้องสวดแบบสังโยค เพราะพระฝ่ายธรรมยุตจะสวดได้ทั้งแบบมคธ และแบบสังโยค
การสวดมนต์และการออกเสียงบาลี แตกต่างกันตั้งแต่สมัย ร.4 ทรงตั้งคณะธรรมยุต คือเมื่อประมาณ พ.ศ. 2379 (นับจากปีที่ ร.4 (พระวชิรญาณ) เสด็จจากวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) มาครองวัดบวรนิเวศวิหาร แต่การเกิดคณะธรรมยุตนั้น เป็นการค่อยเป็นมาตามลำดับไม่ใช่เป็นโดยการประกาศสถาปนาขึ้น)
การออกเสียงบาลีของฝ่ายธรรมยุต (โดยเฉพาะในการบรรพชา-รูปสมบท) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงรามัญ (หรือ มอญ) เพราะทรงเห็นว่าน่าจะถูกต้องตาม “ฐานกรณ์” (ของภาษามคธ) มากกกว่า
ว่าไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงในการออกเสียงบาลี เกิดก่อนการเปลี่ยนแปลงในการห่มจีวรจากหุ่มคลุม (อย่างพระไทยตั้งแต่สมัยก่อน) มาเป็น “ห่มแหวก” อย่างพระมอญ
การสวดมนต์ก็ยังสวดแบบสังโยคของพระไทยสมัยก่อนเหมือนกันกันทุกอย่าง
เพิ่งมาสวดแบบมคธในเวลาต่อมา
การสวดมนต์แบบมคธ นิยมสวดในหมู่ธรรมยุต แต่ไม่ใช่เป็นการสวดมนต์ของพระฝ่ายธรรมยุต คือการสวดมนต์ก็ยังสวดแบบพระไทยทั่วไปอยู่นั่นแหละ (ที่เรียกว่า “สวดสังโยค”) แต่ถ้าเป็นการสวดภายในวัด หรือสวดนอกวัดโดยไม่มีพระฝ่ายมหานิกายเลย พระฝ่ายธรรมยุตจะนิยมสวดแบบมคธ
การสวดมนต์แบบมคธของพระฝ่ายธรรมยุต ทำให้แปลง่ายด้วยเหตุ 2 ประการคือ
1.ออกเสียงอักขระใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา (คือเสียงในภาษาบาลี)
2.สวดเป็นคำและเป็นวรรคตอนตามบทสวด
(แต่ความจริงการสวดมนต์ไม่ใช่มุ่งแปลเอาความหมายของบทสวดไปด้วย แต่เป็นการสวดเพื่อให้เป็น “มงคล” หรือเพื่อความศักดิ์สิทธิ์เป็นสำคัญ)
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการสวดมนต์แบบมคธ คือช่วยให้เขียนและสะกดคำถูก
ถ้าสวดสังโยค จะตัดคำและจัดวรรคตอนไม่ถูก (เว้นแต่ท่านที่ชำนาญแล้ว) เพราะสวดเชื่อมคำและเชื่อมวรรคตอนไปตลอด
เคยเกิดประสบการณ์ตรงของผมเอง ครั้งหนึ่งหลวงพ่อซึ่งอยู่วัดมหานิกายต้องการะลองภูมิผม ท่านเห็นว่าเป็นเปรียญ จึงให้เขียนบทสวด “มหากรุณิโฏ นาโถ ฯลฯ “ให้ท่านดู ปรากฏว่า ผมเขียนไม่ผิดเลย ท่านมีอาการงงๆ และถามว่า มีวิธีอย่างไรจึงเขียนถูก (ทั้งๆ ที่เป็นคำท่องหรือบทสวด)?
ผมกราบเรียนท่านว่า การออกเสียงตามหลักของภาษาบาลีทำให้รู้ว่า ท เมื่อออกเสียงเป็น ค (เช่น “สทา โสคถี...”) ก็จะไม่เขียนว่า “สธา” เป็นต้น (เพราะไทยออกเสียเป็น “สะธา” แต่บาลีออกเสียงว่า “สะคา”)
คำว่า “ปุริสทัมมสารถิ” ไทยออกเสียงว่า “ปุริสธัมมสารถิ”แต่บาลีออกเสียงว่า “ปุริสทัมมสารถิ”
ทัมม แปลว่า ปิก
ส่วน ธัมม มีความหมายคนละอย่าง
หลวงพ่อถามว่า ทำไมไม่ออกเสียงให้มันถูกซะ?
ผมตอบท่านว่า เป็นความเคยชินของไทยไปแล้ว คงแก้ไขไม่ได้
การออกเสียงตาม “ฐานกรณ์” (อ่านว่า “ถานกอน” หมายถึงที่เกิดของเสียงและการเปลี่ยนเสียง) ของภาษาบาลี มารู้ตอนหลังว่า ภาษาบาลีของทั่วโลก ก็ยึดตามการถอดคำเป็นอักษรโรมันของฝรั่ง
ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกทั้งหมด เขียนเป็น “อักษรโรมัน”ที่เรียกว่า Romanization
อักษรโรมัน ก็คือ ตัวหนังสือในภาษาอังกฤษนั่นแหละ
ขอยกตัวอย่าง บทสวดตอนหนึ่ง ที่แยกเอามาสวดเป็นทำนองเพลงอันไพเราะ ที่ว่า
“อิทํโข ปน ภิกฺขเว” (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย)
“ทุกฺขํ อริยสจฺจํ” (นี้คือ) ทุกขอริยสัจจ์)
“ชาติปิ ทุกฺขา” (ความเกิด ก็เป็นทุกข์)
“ชราปิ ทุกฺขา” (ความแก่ก็เป็นทุกข์)
“มรณมฺปิ ทุกขํ” (ความตายก็เป็นทุกข์)
ฯลฯ
เขียนเป็นอักษรโรมันว่า
“ idaทฺ kho pana bhikkhave”
“dukkhan ariyasacc”
“jatipi dukkha”
“jarapi dukkha”
“maranampi dukkhaทฺ”
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมันตามเสียงไทยสวด (แบบสังโยค) ก็จะเป็น “ithaทฺ kho pana phikkhave ฯลฯ”
ซึ่งทั่วโลกจะไม่เข้าใจว่า “ithaทฺ” คืออะไร
หนังสือ “พุทธศาสตร์ ประมวลธรรม” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นความสามารถเฉพาะตัวของท่าน ที่แปลชื่อธรรมเป็นอักษรโรมันไม่ผิดเลย เพราะสมเด็จฯ ท่านเชี่ยวชาญทั้งภาษาบาลีและการเขียนอักษรโรมันเป็นพิเศษอยู่แล้ว
เชื่อว่า พระเถระหลายรูปในฝ่ายมหานิกายก็นึกได้ว่า คำบาลีกันอักษรโรมันและคำแปล ต้องเป็นอย่างไร แต่ชาวพุทธไทยทั่วไปคงจะมีปัญหาไม่น้อย
ได้อ่านหนังสือของบางท่านที่ไปบวชกับวัดธรรมยุต ท่านเข้าใจผิดว่า ธรรมยุตออกเสียง “พุทธัง” เป็นบุคคัง”
ความจริง ธรรมยุติออกเสียงว่า “บุด (บุ๊ด) -ธัง” เช่นเดียวกับที่เข้าใจผิดว่า Buddhism ออกเสียงเป็น “บุดดิสซัม”ความจริงต้องออกเสียงว่า “บุด (บุ๊ด) ธิสซั่ม”
เพราะ dh=ธ (ไม่ใช่ ด)
โปรดสังเกตว่า ได้ใส่วงเล็บว่า “(บุ๊ด) ไว้ด้วยเพื่อจะบอกว่า อักษรบาลีที่แปลงมา ยังออกเสียงเป็นอักษรตามด้วยบาลี คือ พ(และธ) ไม่เป็นอักษรกลาง ตามอักษรไทยโดยเปลี่ยนแต่เสียง ไม่เปลี่ยนระดับเสียง (เป็นอักษร ต่ำ-กลาง-สูง) ตามภาษาไทย เช่น
พุทธัง ออกเสียงเป็น บุ๊ธัง (ไม่ใช่ “บุดธัง”)
และไม่ออกเสียงตามอักษรนำเหมือนในภาษาไทย เช่น ตสฺมา ไม่ออกเสียงเป็น “ตัสสะหมา”(ม ออกเสียงตาม สฺ ที่เป็นอักษรนำ)
มีคำหนึ่งที่พระมักจะออกเสียงผิด คือคำว่า “อินทฺริยสํโร” มักจะออกเสียงคำ อินทฺริย-เป็น “อินทรีย์” (คือออกเสียงว่า อินซีย เหมือนที่อ่านคำว่า “อินทรีย์” ในภาษาไทย) ที่ถูกต้องออกเสียงว่า “อินทฺริยสังวะโร”
ในส่วนตัวผม ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ว่าพระฝ่ายมหานิกายหรือธรรมยุต จะออกเสียงบาลีเป็นอย่างไร ก็เข้าใจได้
เพียงแต่รูสึกว่าโชคดี ที่บังเอิญได้บวชเรียนอยู่กับฝ่ายธรรมยุต ได้มีโอกาสเรียนรู้ว่า ท กับ ด, พ กับ บ, ช กับ ย, ธ กับ ฒ, ช กับ ฌ, ฯลฯ ออกเสียงต่างกันอย่างไร และรู้สึกว่า การได้เรียนบาลี ทำให้การสะกดคำมีความแม่นยำขึ้น เช่น เมื่อตัวหลังเป็น ฒ ตัวข้างหน้าที่เป็นตัวสะกด จะต้องเป็น ฑ (ฑ นางมณโฑ) เช่นคำว่า วุฑฒิ หรือ วัฑฒิ เป็นต้น และไม่อ่าน วัฏจัก เป็น “วัดทะจักร” หรือ “วัฒจักร” (เข้าใจว่าอ่านเพลินตามคำว่า วัฒนธรรม นั่นกระมั่ง?)
คำว่า “เวรมณี” ที่เณรน้อยออกเสียงว่า “เวระมะนอย” นั้น เพราะเสียง ณ ในภาษาบาลี ออกเสียงยากมากครับ เณรน้อยฟังเป็น “เวระมะนอย” (ณ เปล่งเสียงจากปุ่มเหงือก??)