คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” “ว่านสาวหลง” จัดเป็นว่านมหาเสน่ห์ที่คนนิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้านเป็นจำนวนมาก เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ปลูกมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ค้าขายดี มีฐานะร่ำรวย และเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ปลูก รวมถึงเป็นไม้สะสมที่หายาก มีราคาสูง ดร.นำพน พิพัฒน์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า ผลจากการต่อยอดการทำงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยแท้ 100% ซึ่งได้รับการสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน ได้วิจัยต่อยอดสมุนไพรไทย โดยแปรรูปเป็นน้ำมันหอมระเหย หลายปีที่ผ่านมาได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพที่สามารถนำไปต่อยอดได้หลายชนิด เช่น ตะไคร้หอม ไพล ขมิ้น ว่านสาวหลง ยูคาลิปตัส ขิง ข่า มะกรูด ว่านนางคำ และสมุนไพรที่มีความโดดเด่นมากกว่าสมุนไพรที่กล่าวมาทั้งหมด นั่นคือ “ว่านสาวหลง” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้กันมาแต่โบราณมีสรรพคุณ ช่วยแก้อาการผื่นคัน รักษาโรคผิวหนัง หรือนำดอก มาต้มดื่ม แก้ท้องเสีย แก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไข้หวัด เป็นต้น ว่านสาวหลงสามารถปลูกได้ง่าย โตไว ที่สำคัญเมื่อนำว่านสาวหลงมากลั่นแยกเป็นน้ำมันหอมระเหยแล้วน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากว่านสาวหลงมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แบบกลิ่นดอกไม้โบราณ และมีความเชื่อเกี่ยวกับเมตตามหานิยม มีเสน่ห์ดึงดูดต่อเพศตรงข้ามเมื่อนำน้ำมันหอมระเหยจากว่านสาวหลงมาใช้งาน น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากว่านสาวหลงจึงถูกนำไปใช้งานในส่วนของ น้ำหอม น้ำอบ น้ำปรุง เครื่องประทินผิวเสริมความงามต่างๆ ตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ดร.นำพน กล่าวว่า เมื่อนำว่านสาวหลงมาเข้ากระบวนการกลั่นแยกเป็นน้ำมันหอมระเหยบริสุทธ์แล้วจะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และในขณะที่เข้ากระบวนการกลั่นแยกน้ำมันหอมระเหยจากว่านสาวหลง กลิ่นหอมนี้จะหอมโชย ฟุ้งทั่วบริเวณอาคารโรงงานกลั่นน้ำมันหอมระเหยต้นแบบ ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในบริเวณใกล้เคียงจะได้กลิ่นหอมของว่านสาวหลงหอมอบอวลไปทั่ว ที่ผ่านมาได้มีการทดลองซื้อวัตถุดิบว่านสาวหลงจากเกษตรกรในพื้นที่กว่าหนึ่งพันกิโลกรัม ทำให้ชาวเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกว่านสาวหลง ที่เพียงแค่ปลูกไว้หลังบ้าน ในสวนหรือปลูกในท้องไร่ท้องนา แล้วนำมาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างมหาศาล นอกจากนี้ ยังพบว่าว่านสาวหลงยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก เพราะสามารถนำไปแปรรูปได้อีกมากมาย มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากว่านสาวหลง ขึ้นมาเป็นสบู่สมุนไพร น้ำมันหอมระเหยว่านสาวหลง และในอนาคต จะต่อยอดผลิตภัณฑ์จากว่านสาวหลงอีกมากมาย เช่น เครื่องสำอาง น้ำหอม น้ำมันนวดสปา ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนประเภท ครีมบำรุงผิว สบู่ ยาสระผม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่า พื้นที่การตลาดด้านการแปรรูปว่านสาวหลงและสมุนไพรไทยหลายอย่างจะสามารถขยายตัวไปได้อีกไกล ซึ่งว่านสาวหลงและสมุนไพรไทยจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี บางครอบครัวจำหน่ายได้ครั้งละ 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผลผลิตและคุณภาพของสมุนไพรในอนาคต หากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรต่างๆ บุคคลทั่วไป และเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถติดต่อขอข้อมูลและจัดการอบรมได้ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร โทร.042-772-285 ดร.นำพนกล่าวทิ้งท้าย