ความภาคภูมิใจที่สุดของชาวแดนโรตี กับการสร้าง 3 ประวัติศาสตร์ของชาติ ครั้งแรกของโลกที่จะลงจอดขั้วใต้ของดวงจันทร์ ครั้งแรกที่ใช้เทคโนฯตัวเองล้วนๆ และครั้งแรกที่จะได้ศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์ อีกทั้งยังใช้งบฯน้อยที่สุดแต่ได้ผลคุ้มค่าอย่างที่สุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้โพสต์ความก้าวหน้าในห้วงอวกาศอีกก้าวอันยิ่งใหญ่ของอินเดีย โดยระบุ “22 กรกฎาคม 2562 เวลา 16:13 น. ตามเวลาประเทศไทย - องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ส่งยานสำรวจดวงจันทร์ “จันทรายาน 2” ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ ขึ้นชื่อเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด “ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ในรอบ 11 ปี ของประเทศอินเดีย” “จันทรายาน 2 (Chandrayaan-2)” เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำที่ 2 ของประเทศอินเดียต่อจากยาน “จันทรายาน 1 (Chandrayaan-1)” ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ.2551 โดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) มีแผนลงจอดบริเวณใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ระหว่างหลุมอุกกาบาตเมนซินัส ซี (Manzinus C) กับ เซมเปียเลียส เอ็น (Simpelius N) หากสำเร็จจะเป็นยานลำแรกที่สามารถลงจอดบริเวณใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้เป็นลำแรกของโลก “ยานโคจรรอบดวงจันทร์ ยานลงจอด และรถสำรวจ” ภารกิจนี้ประกอบด้วยยานควบคุมทางไกล 3 ประเภท ได้แก่ ยานโคจรรอบดวงจันทร์ ยานลงจอดบนพื้นผิวชื่อว่า “วิกรัม (Vikram)” และยานเคลื่อนที่ได้ชื่อว่า “ปราจาน (Pragyan)” ทั้ง 3 ลำถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดที่ทรงพลังที่สุดของประเทศอินเดีย ชื่อว่า GSLV-Mk III คาดว่าจะลงจอดบนดวงจันทร์ช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 “ภารกิจราคาถูก แต่ผลลัพธ์มหาศาล” ภารกิจจันทรายาน 2 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 4,300 ล้านบาท (เพียงครึ่งเดียวของงบประมาณที่ใช้สร้างภาพยนตร์ Avenger : End Game ที่ใช้ไป 8,900 ล้านบาท) เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดสอบเทคโนโลยีการลงจอดบนดวงจันทร์ ทดสอบรถหุ่นยนต์สำรวจที่พัฒนาโดยประเทศอินเดีย รวมทั้งศึกษาภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์ วิเคราะห์แร่ธาตุ ทำแผนที่ 3 มิติ และค้นหาน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากภารกิจนี้จะกลายเป็นข้อมูลพื้นฐานของการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ในอนาคต “จันทรายาน 2 - ความภาคภูมิใจของประชาชนประเทศอินเดีย” - เป็นภารกิจแรกของโลกที่ส่งยานลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์  - เป็นภารกิจแรกของอินเดียที่พัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง - เป็นภารกิจแรกของอินเดียที่จะศึกษาพื้นผิวของดวงจันทร์ - ทำให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศลำดับที่ 4 ของโลก ที่ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ การสำรวจอวกาศคือความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์โลก ความยากและความอันตรายจะทำให้มนุษย์พัฒนาขีดจำกัดทางด้านเทคโนโลยีให้สูงขึ้นอยู่เสมอ ท้ายที่สุดภารกิจจันทรายาน 2 จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ยังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไป แต่ภารกิจนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศอินเดียที่ยกระดับเทคโนโลยีอวกาศของประเทศตัวเองให้ทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : [1]https://www.isro.gov.in/…/gslv-mk-iii-m1-chandrayaan-2-miss… [2] https://en.wikipedia.org/wiki/Chandrayaan-2