นิด้า/ สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติรวบรวมข้อเสนอจากเวทีสภาฯ และเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ ยื่นข้อเสนอต่อ 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ เกษตร-การพัฒนาสังคม-ทรัพยากร-พลังงาน แก้ไขปัญหา 10 ด้าน เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ปัญหาประมง แก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ หาตลาดยางใหม่นอกจากจีน และแก้ไขผลกระทบจากโครงการรัฐขนาดใหญ่ ฯลฯ
ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศและภาคีที่เกี่ยวข้องประมาณ 140 คน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสรุปและรวบรวมปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป
นายชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลระดับชาติ พ.ศ. 2561 (จัดเมื่อ 30-31 มกราคม 2562) เพื่อรวบรวมปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ผ่านการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงได้มีการสังเคราะห์ปัญหา จัดหมวดหมู่ปัญหา และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
นายชูชาติกล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง สมาชิกองค์กรชุมชนและประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาในแต่ละตำบล ซึ่งขณะนี้จัดตั้งขึ้นแล้วประมาณ 7,300 สภาฯ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับจังหวัด รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้ โดยจะมีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถือเป็น ‘สภาของประชาชน’ อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ มาตรา 32 (2) กำหนดให้สภาองค์กรชุมชน ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม และ(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ
การประชุมสภาองค์กรชุมชนที่นิด้า
นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากเครือข่ายประชาชน และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ เช่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ฯลฯ โดยมีประเด็นสำคัญในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ 10 ด้าน
โดยในวันนี้ (22 กรกฎาคม) ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนได้เข้ายื่นข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน โดยมีประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้านนโยบายที่ดิน มีข้อเสนอ เช่น กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม, ยกเลิก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน, ออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อป้องกันที่ดินกระจุกตัวกับกลุ่มนายทุน, ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบ (มาตรา 61) และที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า (มาตรา 6) กระจายที่ดิน 1 ล้านไร่ให้ชุมชนไร้ที่ดิน 10 ล้านคน, คืนสัมปทานที่ดินต่างชาติ/นายทุนให้คนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
นโยบายป่าไม้ มีข้อเสนอ เช่น ยุติ ยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน, ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิต ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ ฯลฯ
2. การกระจายอำนาจ มีข้อเสนอ เช่น ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการรวมศูนย์ของรัฐส่วนกลางที่มีการผูกขาดทางอำนาจและระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมีข้อเสนอการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เช่น ให้ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค (ผู้ว่าราชการจังหวัด,อำเภอ และกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน) ให้มีเพียงการปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.,เทศบาล,อบจ., กทม.,เมืองพัทยา,..) และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรงจากประชาชน เพื่อความเป็นอิสระในการบริหารงานและงบประมาณ
3. นโยบายสังคมสูงวัย มีข้อเสนอ เช่น ให้รัฐบาลร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม สุขภาพ, ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบการจ่ายเงิน การสมทบ ให้สามารถดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดสวัสดิการประชากรในพื้นที่ได้ ฯลฯ
4.นโยบายเศรษฐกิจชุมชน มีข้อเสนอ เช่น ให้รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณกับสภาองค์กรชุมชนตำบลกว่า 7,000 สภาฯ ให้จัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หรือแผนธุรกิจชุมชนกับกลุ่มองค์กรวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาด ที่สอดคล้องกับภูมินิเวศและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น, ให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบลในการปลูกไม้เศรษฐกิจชุมชน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวฯลฯ
5. นโยบายภัยพิบัติ มีข้อเสนอ เช่น ส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติไปที่ชุมชนโดยตรง จัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่นฯลฯ
6. นโยบายภัยการบริหารจัดการน้ำ มีข้อเสนอ เช่น รัฐบาลควรทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ให้ดําเนินการให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกําหนดให้โครงการขนาดใหญ่ต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสภาองค์กรชุมชนตำบลเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงฯลฯ
7.นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนและคุ้มครองพื้นที่การเกษตร มีข้อเสนอ เช่น ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการควบคุมการใช้และจำหน่ายสารเคมีและปัจจัยให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย 2551 ยุติการใช้สารเคมีการเกษตรกำจัดศัตรูพืชอันตรายทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต คลอร์ไพริฟอส คาร์โบฟูราน และเมทโทมิลฯลฯ
8.นโยบายการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ มีข้อเสนอ เช่นใช้กลไกมาตรา 49 (5) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ลักษณะสังคมสวัสดิการ ในรูปแบบสมัครใจจ่ายสมทบ, ให้ขึ้นทะเบียนชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4, เปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยการลดจำนวนต้นยางเหลือ 40 ต้นต่อไร่,ปฏิรูปการผลิต และการแปรรูป,ให้รัฐบาลประกาศนโยบายการใช้ยางในประเทศให้ถึง 25% ภายใน 2 ปี โดยให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม, ลดการพึ่งพาตลาดประเทศจีน และหาตลาดใหม่รองรับฯลฯ
9.นโยบายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการประมง/การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีข้อเสนอ เช่น จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม, แก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติเพื่อใช้ประโยชน์ทางทะเลในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการ เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน,ให้รัฐบาลทบทวนยกเลิกกิจการโครงการขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติตลอดแนวชายฝั่งทะเลและส่งผลกระทบกับชุมชนฯลฯ
10.นโยบายผลกระทบจากนโยบายของรัฐและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ /ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) มีข้อเสนอเช่น ให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางของคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการพิจารณารายงาน EIA และระบบใบอนุญาต EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันให้ทบทวนโครงการต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก(EEC)โครงการอุตสาหกรรมอ้อย/น้ำตาล โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการโรงงานไฟฟ้าชีวมวล