เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.30 น. ณ ห้องพินนาเคิล ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล) นพ.ถาวร สุทธิไชยากุล นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด งานประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่...สู่ความก้าวหน้าในการรักษาโรคหัวใจ?” (New Cardiology treatment – a shift of Paradigm? A Breakthrough in Cardiology?) ซึ่งจัดโดยสมาคมโคเอ็นไซม์คิว-10 นานาชาติ และ บริษัท ฟาร์มา นอร์ด เอส.อี.เอ จำกัด โดยมีบุคลากรในวงการแพทย์ เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน เพื่อศึกษาความรู้ใหม่ๆ ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับโคเอ็นไซม์คิวเทน ซึ่งการจัดการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ด้านโคเอ็นไซม์คิว-10 ศาสตราจารย์พลาซิโด นาวาส(Placido Navas) จากประเทศสเปน นพ.ปีเตอร์ แลงส์เจน (Peter Langsjoen) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ แฟรงคลิน โรเซนเฟลท์ (Franklin Rosenfeldt) จากประเทศ ออสเตรเลีย และ ศาสตราจารย์เออร์บาน อเลฮาเกน (Urban Alehagen) จากประเทศสวีเดน โดยมี พญ.คุณหญิง มัลลิกา วรรณไกรโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือดเป็นผู้ดำเนินการบรรยาย พญ. คุณหญิง มัลลิกา วรรณไกรโรจน์ เปิดเผยว่า โคเอ็นไซม์คิว-10 ได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ และการดูแลรักษาสุขภาพมาอย่างยาวนานในนานาประเทศทั่วโลก โคเอ็นไซม์ คิว-10เป็นสารคล้ายวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน สารชนิดนี้จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ โคเอ็นไซม์คิว-10 ยังมีหน้าที่ที่สำคัญมากๆในการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย “ดังนั้น หากร่างกายของเราขาดสารชนิดนี้ ก็จะส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงาน โคเอ็นไซม์คิว-10 จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นเป็นอย่างมากสำหรับอวัยวะที่ต้องทำงานอย่างหนักตลอดเวลา หรืออวัยวะที่ต้องใช้พลังงานสูงมากเป็นพิเศษ เช่น หัวใจ ตับ หรือ ไต เป็นต้น” พญ. คุณหญิง มัลลิกา กล่าว ด้าน ศาสตราจารย์พลาซิโด นาวาส (Placido Navas) จากประเทศสเปน เปิดเผยว่า นักวิจัยได้ทำการศึกษาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โคเอ็นไซม์คิว-10 ซึ่งเป็นสารคล้ายวิตามิน สามารถที่จะลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ได้ถึง43% เพียงแค่ใช้สารนี้เพิ่มเติมเข้าไปในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวและ ยังมีผลการศึกษาอื่นๆ ที่ให้ผลคล้ายๆ กับการศึกษานี้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า สารอาหารที่มีความจำเป็นชนิดนี้มีศักยภาพที่จะเป็นกลยุทธ์ทางการรักษาใหม่เพื่อที่จะลดการเสียชีวิต, เพิ่มคุณภาพชีวิต,และลดการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับแพทย์โรคหัวใจ หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการ ติดตามพัฒนา ความรู้ ความก้าวหน้า ทางการรักษาโรคหัวใจให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจแบบเดิมๆ โดยทั่วไปมีมานานหลายทศวรรษ ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการทำงานในระดับเซลล์ และเป็นที่ทราบกันดีว่ายังมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการใช้ยา แต่สารอย่างโคเอ็นไซม์คิว-10 นั้นมีความปลอดภัย และปราศจากผลข้างเคียงใดๆ สามารถที่จะเติมเต็มภาวะขาดแคลนโคเอ็นไซม์คิว-10 ในร่างกาย และปรับปรุงการกระบวนการทำงานทางชีวภาพ ช่วยให้แรงบีบตัวของหัวใจที่ขาดแคลนพลังงานให้ทำงานได้ดีขึ้น จากผลงานวิจัย พบว่าการใช้สารที่เป็นธรรมชาตินี้สามารถที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ให้ดีขึ้น อย่างน้อย 1 ระดับหรือมากกว่านั้น โดยการวัดด้วยเกณฑ์ NYHA classes สิ่งหนึ่งที่สนับสนุนให้นำโคเอ็นไซม์คิว-10 มาใช้เพื่อเป็นความหวังใหม่ทางการรักษา เนื่องจากสารชนิดนี้เป็นสารที่อยู่ในกระบวนการทางชีวเคมีตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว มันไม่ได้มาจากการสังเคราะห์ขึ้นใหม่แต่เป็นสารที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อใช้ในการทำงานของเซลล์ทุกเซลล์ในภาวะปกติ และเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจนั้นต้องอาศัยสารตัวนี้ในการสร้างพลังงานเพื่อการทำงานของของหัวใจที่สมบูรณ์ จากผลการศึกษาต่างๆ ที่ใช้โคเอ็นไซม์คิว-10 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเสนอว่า โคเอ็นไซม์คิว-10 อาจสามารถใช้เพิ่มเข้าไปในการรักษา และ มีทั้งประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยแม้จะใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากกว่านี้ ก่อนที่จะพิจารณาให้ใช้ให้โคเอ็นไซม์คิว-10 เพียงอย่างเดียวในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง นี่เป็นตัวอย่างที่ดี และน่าสนใจว่าการใช้ยาแบบการรักษาทั่วไปในปัจจุบันร่วมกับการใช้สารที่เป็นธรรมชาติ จะทำให้เกิดการรักษาที่ดีขึ้นอย่างไรในอนาคต “ นอกจากนี้โคเอ็นไซม์คิวเทน ยังมีบทบาทในผู้ที่รับประทานยาลดไขมันกลุ่ม statin เนื่องจากยากลุ่มนี้จะไปรบกวนการสร้างโคเอ็นไซม์คิวเทนของร่างกายทำให้สารนี้มีระดับลดลง จนส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ดังนั้นการเสริมสารโคเอ็นไซม์คิวเทน จึงอาจช่วยลดผลข้างเคียงจากยาโดยเฉพาะทางระบบกล้ามเนื้อได้” ศาสตราจารย์พลาซิโด นาวาส(PlacidoNavas) กล่าว